แผ่นดินไหวเสฉวน ประเทศจีน

by
Map of earthquake epicentre เมื่อวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2551 เวลา 13.28 น. เกิดแผ่นดินไหว 7.9 ริกเตอร์ (สถาบันธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา)   ทางตะวันออกของมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ศูนย์กลางอยู่ที่ความลึก 19 กิโลเมตรจากผิวดิน และมี Aftershock 5.0-6.0 ริกเตอร์ ตามมาอีก 16 ครั้ง จนถึงวันอังคารที่ 13 พฤษภาคม 2551 เวลา 06.54 น. มีผู้เสียชีวิตประมาณเกือบ 20,000 คน
สาเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากการขยับตัวแบบย้อนกลับ (Reverse Fault) ของรอยเลื่อน “ลองเมนฉาน” (Longmenshan) ซึ่งวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ในอดีต เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2476 มณฑลเสฉวน เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 9,300 คน

การอธิบายทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์

แผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนย้อน (reverse fault หรือ thrust fault) บริเวณขอบด้านตะวันตกเฉียงเหนือของแอ่งเสฉวน (Sichuan Basin) จากการวิเคราะห์ตำแหน่งของศูนย์กลางแผ่นดินไหว (epicenter) และกลไกแผ่นดินไหว (Focal Mechanism) พบว่าเกิดขึ้นตามแนวของรอยเลื่อนลองเมนฉาน (Longmenshan fault) ซึ่งมีการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ และรอยเลื่อนอื่นที่สัมพันธ์กันทางธรณีแปรสัณฐาน โดยเป็นผลจากแรงเค้น (tectonic stresses) เนื่องจากการเคลื่อนที่เข้าชนกันของเปลือกโลกอย่างช้าๆ ของเปลือกโลกบริเวณที่ราบสูงทิเบต (ด้านตะวันตก) และแผ่นเปลือกโลกที่วางตัวรองรับแอ่งเสฉวนและจีนตะวันออกเฉียงใต้

ในระดับภาคพื้นทวีป การไหวสะเทือนในเขตทวีปเอเชียกลางและตะวันออกนั้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการเคลื่อนที่ขึ้นทางเหนือของแผ่นเปลือกโลกอินเดียเข้าชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย ด้วยอัตราเร็วประมาณ 50 มิลลิเมตรต่อปี การเคลื่อนที่เข้าชนกันของแผ่นเปลือกโลกทั้งสองทำให้เกิดการยกตัวของแผ่นดินเป็นเทือกเขาสูงส่วนใหญ่ในเอเชีย และการขยับตัวของเปลือกโลกตามรอยเลื่อนในบริเวณด้านตะวันออกที่ห่างออกไปจากที่ราบสูงทิเบต ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง

ในอดีตนั้นในบริเวณขอบแอ่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของแอ่งเสฉวนเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง ดังเช่น แผ่นดินไหวขนาด 7.5 ตามาตราริกเตอร์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1933 ที่คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 9,300 ราย