หินแร่ — December 13, 2009 at 7:00 PM

ประโยชน์ของแร่ทองคำ

by
ทองคำ คือแร่โลหะชนิดหนึ่ง ที่มีความสวยงาม และหายาก สีเหลืองทองทำให้รู้สึกถึงคุณค่าและความหรูหรา เนื่องด้วยคุณสมบัติเด่นเฉพาะของแร่ทองคำ ทำให้ทองคำไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นแค่สร้อยคอ กำไร แหวน ดังที่เราเห็นกันทั่วไปตามร้านขายทองเพียงอย่างเดียว ประโยชน์ของทองคำนั้นมีค่ามากกว่านั้น และมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่ราคาซื้อขายทองคำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำไมทองคำยังคงมีความจำเป็นอยู่ ทองคำถูกนำไปใช้ในรูปแบบใดบ้าง ลองมาดูกัน

ทองคำกับการเงิน

เรื่องเงินๆ ทองๆ นั้นเป็นของคู่กัน ก็เพราะสองสิ่งนี้ถูกนำมาใช้ในการค้าขายแลกเปลี่ยนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ทองคำเริ่มมีบทบาทในการค้าย้อนกลับไปเมื่อหกพันปีก่อน แม้ว่าจะมีการใช้แร่เงินด้วยเช่นกัน แต่ด้วยความที่ทองคำนั้นหายาก มีความคงทน สวยงาม แถมยังตัดแบ่งเป็นส่วนๆ ได้ง่าย ทำให้ทองคำจึงมีมูลค่าสูง และเป็นที่ต้องการ ถึงกับมีการกำหนดมาตรฐานเงินตราที่อิงทองคำด้วย เรียกว่า มาตรฐานทองคำ (Gold Standard) ทองคำที่ใช้เป็นหลักประกันทางการเงินมักจะอยู่ในรูปของ “ทองคำแท่ง” (gold bullion) เพราะว่ามีต้นทุนการผลิตต่ำ ง่ายต่อการจัดการและเก็บรักษา ปัจจุบันนี้ทั้งรัฐบาล สถาบันต่างๆ และบุคคลทั่วไปต่างก็นิยมลงทุนเก็งกำไรจากทองคำแท่ง

อีกหนึ่งรูปแบบของการค้าขายโดยใช้ทองคำก็คือ เหรียญทองคำ แต่ภายหลังกลับไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากมีการนำเงินที่เป็นกระดาษมาใช้ เหรียญทองคำถูกตีค่าด้วยสองหน่วยหลักๆ คือ ตามหน่วยสกุลเงินต่างๆ เช่น ดอลลาร์ และตามหน่วยน้ำหนัก เช่น ออนซ์ หรือ กรัม แม้ว่าตอนนี้เราจะไม่ใช้เหรียญทองคำในการซื้อขายแล้วก็ตาม แต่ผู้คนก็นิยมซื้อเหรียญทองคำเก็บไว้สำหรับเป็นของที่ระลึกและเพื่อเก็งกำไรเช่นเดียวกับทองคำแท่ง

 

ทองคำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ทองคำนั้นมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างมาก และมีความสำคัญเลยทีเดียว โดยเฉพาะในกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องคิดเลข โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มักอ่อนไหวต่อการเกิดสนิมและการผุกร่อน โดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อที่ของอุปกรณ์ขนาดเล็ก ทองคำจึงถูกนำมาใช้เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าตามจุดเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้า เพราะทนทานต่อการผุกร่อน อย่างไรก็ตามแม้ทองคำจะถูกใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกสเพียงปริมาณเล็กน้อย แต่ลองนึกดูว่าทุกปีมีการผลิตโทรศัพท์มือถือออกมาเกือบล้านล้านเครื่อง เมื่อรวมทั้งหมดแล้วเราต้องใช้ทองคำไปเท่าไหร่???

ทองคำกับทันตกรรม

ลองนึกว่าถ้าเรานำเหล็กมาใช้ในการอุดฟัน…อืมม..คงไม่ดีแน่ เพราะว่า หนึ่งทันตแพทย์คงต้องใช้เครื่องมือของช่างตีเหล็ก มาทำกับฟันของเรา สองนอกจากรอยยิ้มของเราจะขึ้นสนิมภายในไม่กี่วันแล้ว ยังต้องทำใจยอมรับรสชาติสนิมในปากไปตลอด.. นี่แหละคือเหตุผลที่ว่าทำไมทองคำถึงถูกนำมาใช้ในการทันตกรรม เพราะมันมีประสิทธิภาพสูง เป็นโลหะที่ไม่ทำปฏิกิริยากับสารอื่นได้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ ง่ายต่อการทำงานของทันตแพทย์ แถมยังดูสวยงาม (แม้ว่าจะแพงกว่ามากก็ตาม) ปัจจุบันได้นำโลหะผสมของทองคำมาใช้ในการอุดฟัน เคลือบฟัน และทันตกรรมอื่นๆ
เพิ่มเติม http://www.goldbulletin.org/assets/file/goldbulletin/downloads/Donaldson_3_13.pdf

ทองคำกับการแพทย์

เชื่อหรือไม่ว่าแพทย์ใช้ทองคำในการรักษาอาการป่วยบางประเภท เช่น โรคเปลือกตาปิดไม่สนิท (Lagophthalmos) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถปิดเปลือกตาได้สนิท ทองคำจะถูกผังเข้าไปในเปลือกตาด้านบนเพื่อเป็นน้ำหนักถ่วงให้เปลือกตาปิด ทองคำที่เป็นกัมมันตรังสีในสารละลายคอนลอยด์สามารถแผ่รังสีเบต้าออกมา เมื่อฉีดเข้าไปในร่ายกายจะสามารถตรวจจับขณะที่สารละลายเคลื่อนที่ผ่านอวัยวะต่างๆได้ใช้ในขั้นตอนการวิเคราะห์โรค ทองคำที่เป็นกัมมันตรังสีนี้ยังใช้ในการฉายแสงรักษามะเร็งตามจุดต่างๆโดยการฝังเข้าไปในเนื้อเยื่อโดยตรง
เพิ่มเติม http://www.thefreelibrary.com/Paralytic+lagophthalmos:+gold-weight+implantation-a0152574062

 

ทองคำกับอวกาศยาน

ยิ่งที่จะต้องใช้วัสดุที่เชื่อได้ว่าทนทานที่สุด นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมทองคำถึงถูกใช้นับร้อยกระบวนการในการสร้างยานอวกาศ ทุกๆ ลำของนาซ่า ทั้งวงจรไฟฟ้า และเป็นส่วนผสมในโพลิเมอร์ฟิล์มฉาบภายนอกตัวยานเพื่อสะท้อนรังสีอินฟาเรดและ รักษาอุณหภูมิภายในให้คงที่ หากไม่มีฟิล์มนี้ส่วนที่มีสีเข้มของยานอวกาศจะดูดความร้อนอย่างมาก นอกจากนี้เนื่องจากสารหล่อลื่นอินทรีย์จะแตกตัวและระเหยกลายเป็นไอในสภาวะ สูญญากาศ แผ่นทองคำบางๆ จึงถูกใช้เป็นสารหล่อลื่นสำหรับเครื่องจักรแทนเพราะมีความต้านทานแรงเฉือน (shear strength) ต่ำ เมื่อมีแรงเสียดทานมากระทำโมเลกุลของทองคำจะเลื่อนผ่านกัน เสมือนเป็นสารหล่อลื่นไปในตัว

 

ทองคำกับรางวัลและยศถาบันดาศักดิ์

คุณคิดว่ามงกุฎของพระราชาทำด้วยอะไร? แน่นอนว่าต้องเป็นทองคำอยู่แล้ว เพราะเป็นโลหะที่แสดงถึงคุณค่าอันสูงส่ง สมบัติด้านความบริสุทธิ์ยังเป็นเหตุผลให้ทองได้รับเลือกในการประดิษฐ์ สัญลักษณ์และเครื่องรางทางศาสนาด้วย นอกจากนี้ในการประกวดหรือแข่งขันเกือบทุกประเภทเหรียญหรือถ้วยรางวัลสำหรับ ผู้ชนะเลิศก็ทำด้วยทองคำ เช่น เหรียญทองในกีฬาโอลิมปิก รางวัลออสการ์ และรางวัลแกรมมี่ เป็นต้น

 

ทองคำในอุตสาหกรรมกระจกแก้ว

ทองคำถูกใช้ในหลายขั้นตอนของการทำแก้ว ที่นิยมมากที่สุดคือ เพื่อเป็นเม็ดสี การเติมทองปริมาณเล็กน้อยลงในแก้วหลอมจะได้กระจกสีแดงทับทิม ซึ่งสามารถสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์จากภายนอกได้ดี ทำให้ภายในอาคารเย็นสบายในฤดูร้อน ขณะเดียวกันก็ช่วยสะท้อนความร้อนให้อยู่ภายในทำให้อากาศในอาคารอบอุ่นในฤดูหนาว เช่นเดียวกับหน้ากากและชุดของนักบินอวกาศที่เคลือบด้วยชั้นทองคำบางๆ เพื่อปกป้องตาและผิวหนังจากรังสีดวงอาทิตย์นั่นเอง

 

ทองคำกับการเคลือบวัตถุ

เพราะว่าทองเป็นโลหะที่มีสมบัติยืดหยุ่นสูงที่สุดจึงสามารถตีเป็นแผ่นที่บางขนาดหนึ่งในล้านนิ้วได้ ผลผลิตก็คือทองคำเปลวที่ใช้ติดบนรูปภาพ รูปปั้น หรือเฟอร์นิเจอร์นั่นเอง การปิดชั้นทองคำเปลวบนผิวด้านนอกของสิ่งก่อสร้างช่วยให้พื้นผิวทนทานต่อการสึกกร่อนยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากก็คือตามโดมของศาสนสถานและสิ่งก่อสร้างที่สำคัญอื่นๆ

 

การใช้ทองคำในอนาคต

เนื่องจากทองคำมีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับโลหะอื่นๆ การนำทองคำมาใช้แต่ละครั้งย่อมต้องผ่านการประเมินอย่างถี่ถ้วนก่อนว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่าได้อีก ในอีกแง่หนึ่งคือเมื่อเราค้นพบการใช้ประโยชน์จากทองคำเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วจะไม่มีโลหะอื่นที่ทดแทนมันได้ ดังนั้นความต้องการใช้ทองคำจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลา และเนื่องจากปริมาณที่จำกัด มูลค่าและความสำคัญของทองคำก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ สมกับการเป็นโลหะแห่งโลกอนาคตอย่างแท้จริง แล้วใครล่ะที่จะเป็นคนค้นหาทองคำ?

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

 

กบนอกกะลา – เล่นแร่แปรทอง ตอนที่ 1

 

กบนอกกะลา – เล่นแร่แปรทอง ตอนที่ 2

 

เนื้อหารายการ โดยบริษัททีวีบูรพา

ทองคำ เป็นสิ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมานาน นับตั้งแต่แรกเกิดก็มีการรับขวัญหลานคนใหม่ด้วยทอง พอเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ต้องมีสินสอดทองหมั้นเป็นหลักประกันความรัก ทองจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง มั่งมี ความเป็นสิริมงคล ทำไมทองคำจึงเป็นสิ่งล้ำค่าที่มากไปด้วยคุณค่าทั้งใน แง่ราคาและมูลค่าทางจิตใจ ทองมาจากไหน และกว่าทองจะมาอยู่ในมือเราถูกเปลี่ยนรูป แปรร่างมาแล้วกี่ครั้งกี่ขั้นตอน กบนอกกะลาจึงเดินทางตามหาความรู้ที่ซุกซ่อนอยู่ในขุมทอง จุดเริ่มต้นของเส้นทางสายทองคำอยู่ที่เหมืองทองที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งในแต่ละวันจะมีการออกพื้นที่สำรวจเพื่อดูว่าตรงไหนที่มีแร่ทองคำ

เมื่อพบว่าบริเวณใดมีแร่ทองคำ ก็จะส่งข้อมูลให้ฝ่ายวิศวกรเหมืองขุดแร่ทองคำขึ้นมา ซึ่งแต่ละวันจะมีแร่ทองคำถูกระเบิดขึ้นมามากมายถึงวันละ 8,000-10,000 ตัน แต่ปริมาณทองคำที่ได้จะมีเพียง 2-3 กรัม / ตัน เท่านั้น จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการเปลี่ยนก้อนดินก้อนหินให้กลายเป็นโลหะที่ใครๆ ก็อยากได้เป็นเจ้าของ นั่นคือการชะละลายเอาสินแร่ทองคำออกมา แล้วนำไปหลอมให้กลายเป็นก้อนโลหะ แต่ในขั้นตอนนี้เราจะยังไม่เห็นว่าเป็นทองสีเหลืองอร ่าม นั่นก็เพราะว่ายังมีแร่เงินปนอยู่ด้วยถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเดินทางตามก้อนโลหะนี้ไปถึงฮ่องกง เพื่อไปดูกระบวนการสกัดทองให้เหลือแต่เนื้อทองคำบริสุทธิ์ 99.99 เปอร์เซ็นต์ เส้นทางของทองคำยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากที่เราได้เฝ้าติดตามกระบวนการแปรรูปทองคำจากสินแร่จนกระทั่งมา เป็นทองคำ เรายังติดตามทองคำบริสุทธิ์กลับมาสู่ตลาดค้าทองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย นั่นคือเยาวราช เพื่อมาดูว่าทองคำจะเปลี่ยนไปเป็นทองรูปพรรณอย่างที่ เราใส่กันได้อย่างไร

ขั้นตอนการทำทองรูปพรรณต้องเริ่มจากการนำทองคำบริสุทธิ์มาผสมกับเงินและทองแดงเพื่อให้ได้สัดส่วนเนื้อทอง 96.5 เปอร์เซ็นต์ โดยช่างทองบอกว่าที่ต้องผสมเพื่อให้เนื้อทองมีความแข ็งแรงเหมาะกับการใช้งาน ซึ่งเมื่อได้ทองที่มีเปอร์เซ็นต์ตรงตามมาตรฐานทองไทย ที่กำหนดไว้แล้วก็จะนำ ทองมารีดและดึงให้กลายเป็นเส้นลวดเล็กๆ ก่อนจะนำมาขึ้นรูปด้วยการดัด ตัด แต่ง แล้วนำมาร้อย ถัก ทอ จนกลายเป็นสร้อยทองให้เราใส่กัน

นอกจากทองรูปพรรณ การทำทองคำเปลวก็ต้องใช้ทองคำบริสุทธิ์ในการทำเช่นกัน ซึ่งการทำทองคำเปลวต้องอาศัยภูมิปัญญาและฝีมือของช่างตีทอง ที่ต้องแบกค้อนทองเหลืองหนักกว่า 10 กิโลกรัมเป็นเวลากว่า 7 ชั่วโมง ในการตีทองหนาๆ ให้กลายเป็นทองคำเปลวแผ่นบางๆ จากต้นทางที่เราเห็นเป็นเพียงแค่ก้อนดินธรรมดา ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนกว่าจะกลายเป็นทองคำที่ถูกผู้คนสมมติค่าให้มี ราคาและยังมีมูลค่าในเชิงจิตใจ เพราะฉะนั้นทองคำสำหรับคนไทยจึงมีคุณค่ามากมายเกินกว่าที่จะตีค่าเป็นเงิน เพียงเท่านั้น…