แผ่นดินไหวเชียงใหม่ 19 มิถุนายน 2550

by

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 เวลาประมาณ 12.06 น.ได้เกิดแผ่นดินไหวที่รู้สึกได้ขนาด 4.5 ตามมาตราริกเตอร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่อ.แม่ริม โดยมีการเกิดสัมพันธ์กับระบบรอยเลื่อนแม่ริม (Mae Rim fault system): ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นกลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวอยู่ในแนวเกือบเหนือ-ใต้ (แนวเส้นสีเหลือง ดังภาพ) มีลักษณะเป็นแนวยาวทางเหนือตั้งแต่เขตอ.เชียงดาว อ.แม่แตง และเริ่มมุดตัวลงใต้ชั้นตะกอนอายุอ่อนของแอ่งเชียงใหม่ในเขตอ.แม่ริม อ.เมือง ไปทางใต้จนถึงจ.ลำพูน ทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นแนวรอยเลื่อนได้บนพื้นดิน


ตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหว

จากการแปลความหมายจากค่าผิดปกติสนามแม่เหล็กโลกพบว่ากลุ่มรอยเลื่อนแม่ริมได้แสดงลักษณะผิดปกติของค่าสนามแม่เหล็กโลกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างหินสองข้างของแนวรอยเลื่อน โดยเฉพาะบริเวณที่ใกล้กับศูนย์กลางแผ่นดินไหว ซึ่งแปลความหมายได้ว่าน่าจะมีรอยเลื่อนปรากฏอยู่ข้างใต้


การแปลความหมายจากค่าผิดปกติสนามแม่เหล็กโลก

รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด มีจุดศูนย์กลางห่างจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไปทางทิศเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร ถือเป็นเรื่องผิดปกติเนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาแล้วกว่า 40 ปี แต่กลับเกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะนี้

           ทั้งนี้แผ่นดินไหวใน อ.แม่ริม ที่เกิดขึ้น อยู่นอกเหนือจากแนวรอยเลื่อนแม่ทา ซึ่งจะอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่อำเภอดอยสะเก็ด สันกำแพง ไปจนถึง จ.ลำพูน จึงยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากรอยเลื่อนแม่ทาตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นเกิดจากรอยเลื่อนที่พาดผ่านใจกลางจังหวัดเชียงใหม่จากแนวทิศเหนือไปยังทิศใต้ คือ ตั้งแต่อำเภอแม่แตง แม่ริม เมืองเชียงใหม่ ไปจนถึง อ.เมือง จ.ลำพูน

           รอยเลื่อนนี้เมื่อดูจากภาพถ่ายดาวเทียวอาจมองเห็นไม่ชัดเหมือนกับรอยเลื่อนอื่น ๆ ที่เป็นแนวร่องเขา เนื่องจากรอยเลื่อนนี้ถูกดินตะกอนจากแม่น้ำปิงถมมาเป็นเวลานานจนกลายเป็นที่ราบและทุ่งนา แต่รอยเลื่อนนี้มีข้อมูลยืนยันจากดินตะกอนที่พบใน อ.แม่แตง ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำถึง 50 เมตร ซึ่งเป็นลักษณะของการยกตัวของเปลือกโลก อย่างไรก็ตามรอยแลื่อนที่พาดผ่านใจกลางจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่มีการตั้งชื่อ แต่เรียกกันเบื่องต้นว่า “รอยเลื่อนแม่แตง” โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยซึ่งถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมการป้องกันภัยพิบัติในอนาคต

ข้อมูลโดย ศูนย์วิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว (Earthquake Hazard Research Center)  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่