รอยเลื่อนและแผ่นดินไหว จ.เชียงราย 2557

by

บันทึกการสำรวจรอยเลื่อนมีพลังและความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ในพื้นที่ จ.เชียงราย เนื้อหาประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา การสังเกตรอยเลื่อนจากภูมิประเทศ และตัวอย่างความเสียหายที่พบจากการสำรวจพื้นที่ประสบภัย นำเสนอในมุมมองของนักธรณีวิทยา

สาระสำคัญ

  • เมื่อเวลา 18.08 น. วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ละติจูด 19.68 องศาเหนือ ลองติจูด 99.69 องศาตะวันออก ที่ระดับความลึก 7 กิโลเมตร บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย
  • ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ละติจูด 19.7477 องศาเหนือ ลองจิจูด 99.6919 องศาตะวันออก บริเวณต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย 
  • เป็นแผ่นดินไหวในประเทศไทยที่รุนแรงที่สุดที่มีการบันทึกไว้
  • หลังจากนั้น เกิดแผ่นดินไหวตาม ไม่น้อยกว่า 700 ครั้ง โดยส่วนใหญ่มีขนาดน้อยกว่า 3.0
  • ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวตาม กระจายตัวหลายบริเวณในเขตอ.แม่สรวย อ.แม่ลาว อ.พาน และอ.เมือง จ.เชียงราย
  • สันนิษฐานว่าเกิดจากการขยับตัวของรอยเลื่อนพะเยาส่วนเหนือ (ส่วนแม่ลาว) ในกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา
  • รอยเลื่อนย่อยในกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ส่วนใหญ่เป็นรอยเลื่อนตามแนวระดับ จัดแบ่งได้ 2 ส่วน
  • รอยเลื่อนย่อยส่วนเหนือ วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีลักษณะการเลื่อนไปทางซ้าย
  • รอยเลื่อนย่อยส่วนใต้ วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีลักษณะการเลื่อนไปทางขวา
  • การขยับตัวของรอยเลื่อนมีพลังทางตอนเหนือของประเทศไทยเป็นผลจากแรงดันภายในเปลือกโลก ที่ถูกถ่ายทอดมาจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินเดียกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย
แผนที่แสดงตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวและแนวรอยเลื่อนย่อยในกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา - GeoThai.net (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
แผนที่แสดงตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวและแนวรอยเลื่อนย่อยในกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา – GeoThai.net (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

 

กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา

กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ประกอบด้วยรอยเลื่อนย่อย ไม่น้อยกว่า 17 รอยเลื่อน อาทิ รอยเลื่อนแม่ลาว รอยเลื่อนพาน กระจายตัวต่อเนื่องกันในแนวเหนือ-ใต้ รวมระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร พาดผ่านรอยต่อระหว่างจ.เชียงราย จ.พะเยา และทางตอนเหนือของจ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีระดับความรุนแรงแผ่นดินไหวระดับสูงสุด ตามแผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวประเทศไทย โดยกรมทรัพยากรธรณี (2556) กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา จัดเป็นรอยเลื่อนมีพลัง เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อรอยเลื่อนย่อยส่วนล่างมีการขยับตัว ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 สร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้างใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน วัด ประชาชนในพื้นที่อ.สรวย และอ.พาน รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน

รู้ได้อย่างไรว่ามีรอยเลื่อน?

บริเวณที่มีรอยเลื่อนตัดผ่านจะแสดงหลักฐานการเลื่อนของแผ่นดิน ซึ่งสามารถสังเกตเบื้องต้นได้จากลักษณะภูมิประเทศ เช่น ถ้ารอยเลื่อนตัดผ่านภูเขา จะเกิดหน้าผาเป็นแนวตรงอย่างผิดปกติ ลำน้ำสายเล็กที่ไหลจากยอดเขาจะมีการเปลี่ยนทิศทางการไหลไปตามแนวรอยเลื่อน เนื่องจากรอยเลื่อนทำให้เกิดแนวรอยแตกมากมายบนแผ่นดิน ซึ่งง่ายต่อการถูกกัดเซาะ ตัวอย่างเช่น รอยเลื่อนแม่ลาวที่ขนานกับทางหลวงหมายเลข 118 วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ การกำหนดขอบเขตของรอยเลื่อนเป็นหน้าที่ของนักธรณีวิทยา จากการสำรวจในพื้นที่อย่างละเอียด รอยเลื่อนบางตัวจะไม่สามารถระบุขอบเขตหรือจุดสิ้นสุดได้ชัดเจน โดยเฉพาะรอยเลื่อนที่ตัดผ่านพื้นที่ราบและถูกปิดทับด้วยชั้นตะกอนหนา

ผู้เชียวชาญจากกรมทรัพยากรธรณีกำลังอธิบายลักษณะภูมิประเทศที่มีรอยเลื่อนแม่ลาวตัดผ่าน บนทางหลวงหมายเลข 118
คุณปรีชา สายทอง (กลางขวา) ผู้เชียวชาญจากกรมทรัพยากรธรณีกำลังอธิบายลักษณะภูมิประเทศที่มีรอยเลื่อนแม่ลาวตัดผ่าน บนทางหลวงหมายเลข 118

 

แผ่นดินไหวขนาด 6.3

เมื่อเวลา 18.08 น. วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ละติจูด 19.68 องศาเหนือ ลองติจูด 99.69 องศาตะวันออก ที่ระดับความลึก 7 กิโลเมตร บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย จากข้อมูลตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่วัดได้ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนย่อยส่วนล่าง (รอยเลื่อนพาน) ที่มีการวางตัวในแนวประมาณเหนือ-ใต้ ขนานกับภูเขาฝั่งด้านตะวันตกของอ.พาน และต่อเนื่องขึ้นไปยังอ.แม่ลาว จ.เชียงราย บันทึกกลไกแผ่นดินไหว (focal machanism) จากสำนักสำรวจธรณีวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ (USGS) บ่งบอกลักษณะการเลื่อนตามแนวระดับไปทางขวา หมายความว่าพื้นดินทั้งหมดของอ.พานเคลื่อนที่ลงไปทางใต้ เมื่อเทียบกับ ภูเขาด้านตะวันตกที่เคลื่อนที่ขึ้นไปทางเหนือ ขณะนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าระหว่างเกิดแผ่นดินไหว รอยเลื่อนนี้มีการขยับตัวด้วยระยะทางเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยว่ารอยเลื่อนแม่ลาว ที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือขนานกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 ว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 หรือไม่ เนื่องจากการสำรวจความเสียหาย และตำแหน่งศูนย์กลางของแผ่นดินไหวตาม พบกระจายตัวตามแนวรอยเลื่อนแม่ลาวเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งการเลื่อนไปทางซ้ายก็ยังสอดคล้องกับบันทึกกลไกแผ่นดินไหวจากสำนักสำรวจธรณีวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ ด้วย ระหว่างนี้ กรมทรัพยากรธรณีกำลังทำการสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด และจะเป็นผู้สรุปสาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ต่อไป

คุณสุวิทย์ โคสุวรรณ (ถือแผนที่) ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี กำลังอธิบายภาพรวมของเหตุการณ์แผ่นดินไหว ให้กับทีมสำรวจทางธรณีวิทยา
คุณสุวิทย์ โคสุวรรณ (ถือแผนที่) ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี กำลังอธิบายภาพรวมของเหตุการณ์แผ่นดินไหว ภายหลังการบินสำรวจความเสียหายจากมุมสูง ให้กับทีมสำรวจทางธรณีวิทยาภาคพื้นดิน

 

แผ่นดินไหวตาม

หลังจากการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ได้เกิดแผ่นดินไหวตามมากกว่า 700 ครั้ง (ข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา) มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวกระจายตัวเป็นบริเวณกว้าง ครอบคลุมพื้นที่อ.แม่ลาวเป็นส่วนใหญ่ และบางส่วนในพื้นที่อ.พาน อ.แม่สรวย และอ.เมือง จ.เชียงราย สันนิษฐานว่าแผ่นดินไหวตามเหล่านี้เป็นผลจากการขยับตัวของรอยเลื่อนย่อยในกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา เช่น รอยเลื่อนพาน รอยเลื่อนแม่ลาว และรอยเลื่อนย่อยอื่นๆ ใกล้เคียง แผ่นดินไหวตามที่มีขนาดมากที่สุดคือ 5.9 เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2557 ในพื้นที่อ.แม่ลาว รองลงมาคือแผ่นดินไหวขนาด 5.6 เกิดขึ้นในวันเดียวกัน ในเขตพื้นที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

การสำรวจภาคสนามเบื้องต้น

พื้นที่ใกล้กับตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหว คือเป้าหมายของการสำรวจภาคสนามในครั้งนี้ ครอบคลุมพื้นที่ ต.ดงมะดะ ต.จอมหมอกแก้ว ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว และต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งมีรายงานความเสียหายอย่างหนัก เช่น ตึกร้าว บ้านพัง วัดเสียหาย ถนนแตกร้าว และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เพราะถูกผนังบ้านทับ

ภาพก่อนและหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนในเขต ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
ภาพก่อนและหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนในเขต ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย แผ่นดินไหวยังก่อให้เกิดรอยแยกบนพื้นดินด้วย

จุดประสงค์หลักในการสำรวจภาคสนาม คือการศึกษาพื้นผิวดินที่ถูกเปลี่ยนแปลงระหว่างการเกิดแผ่นดินไหว เช่น รอยเลื่อนขนาดเล็ก หรือรอยแตกแยกบนพื้นดิน นักธรณีวิทยาจะทำการบันทึกข้อมูลตำแหน่ง ทิศทางการวางตัวของรอยแตก และรอยเลื่อนขนาดเล็กที่พบ เพื่อใช้สืบหาว่ารอยเลื่อนย่อยตัวใดกันแน่ในกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ด้วยสมมติฐานที่ว่า ถ้ารอยแตกหรือรอยเลื่อนขนาดเล็กเกิดขึ้นพร้อมกับการขยับตัวของรอยเลื่อนตัวใหญ่แล้ว ลักษณะการเลื่อนและทิศทางการวางตัวของรอยแตกและรอยเลื่อนนั้น จะต้องสามารถอธิบายได้ด้วยระบบแรงที่มากระทำแบบเดียวกัน

การสำรวจรอยแตกรอยแยกที่เกิดจากแผ่นดินไหว
นักธรณีวิทยาเดินสำรวจรอยแตกรอยแยกที่เกิดจากแผ่นดินไหว

จุดประสงค์รอง คือการพบปะพูดคุยและให้กำลังใจผู้ประสบภัย เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาดมากถึง 6.3 และมีแผ่นดินไหวตามเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประสบภัยเกิดความวิตกกังวล นักธรณีวิทยาได้ช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับรอยเลื่อนมีพลัง และอธิบายเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัย บ้านเรือนหลายหลังยังไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้ เนื่องจากแผ่นดินไหวตามอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับบ้านเรือนได้อีก
ที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัย บ้านเรือนหลายหลังยังไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้ เนื่องจากแผ่นดินไหวตามอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับบ้านเรือนได้อีก

 

รอยแตกที่เกิดจากแผ่นดินไหว

จากการสำรวจพื้นที่พบรอยแตกเกิดขึ้นมากมายตามถนน พื้นบ้าน พื้นดิน ริมตลิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรอยแตกระดับพื้นผิวที่เป็นผลจากการไหวสะเทือนของพื้นดิน หรือเกิดเนื่องจากการทรุดตัวตามแรงโน้มถ่วง รอยแตกเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดแผ่นดินไหว ลักษณะการแตกและทิศทางการวางตัวอาจจะไม่สอดคล้องกับรอยเลื่อนใหญ่ บางแห่งการทิศทางการแตกถูกควบคุมด้วยสิ่งปลูกสร้าง เช่น ท่อฝังใต้ถนน หรือ รอยต่อระหว่างสะพานกับถนน การเลื่อนของรอยแตกเหล่านี้ก็ไม่ได้บ่งบอกระยะการเลื่อนของรอยเลื่อนใหญ่ทั้งหมด เพราะอาจจะมีการขยับไปมาจนกระทั่งกลับมาอยู่ใกล้ตำแหน่งเดิม ตัวอย่างเช่น เส้นกลางถนนที่ถูกรอยแตกตัดผ่าน รอยแตกบางแห่งเป็นเพียงรอยแยกเปิด โดยที่ไม่มีการเลื่อนทางด้านข้างแต่อย่างใด

นักธรณีวิทยาจากภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาล้ยเชียงใหม่ สำรวจรอยแตกบนถนน จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ บ้านใหม่จัดสรร ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 152 บนทางหลวงหมายเลข 118
นักธรณีวิทยาจากภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาล้ยเชียงใหม่ สำรวจรอยแตกบนถนน จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ บ้านใหม่จัดสรร ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 152 บนทางหลวงหมายเลข 118
นักธรณีวิทยาจากภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจรอยแยกบนพื้นดิน เนื่องจากการทรุดตัวของตลิ่ง ติดกับแม่น้ำลาว บริเวณรอยต่อระหว่างอ.แม่ลาวกับอ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใกล้กับศูนย์กลางแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57 รอยแยกริมตลิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว แต่เป็นผลที่เกิดจากการไหวสะเทือนของแผ่นดิน และมีแนวโน้มที่จะเกิดการพังทลายของพื้นดินลงสู่แม่น้ำลาวในอนาคต
นักธรณีวิทยาจากภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจรอยแยกบนพื้นดิน เนื่องจากการทรุดตัวของตลิ่ง ติดกับแม่น้ำลาว บริเวณรอยต่อระหว่างอ.แม่ลาวกับอ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใกล้กับศูนย์กลางแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57
รอยแยกริมตลิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว แต่เป็นผลที่เกิดจากการไหวสะเทือนของแผ่นดิน และมีแนวโน้มที่จะเกิดการพังทลายของพื้นดินลงสู่แม่น้ำลาวในอนาคต

 

ปรากฏการณ์ทรายเหลว

ทรายเหลว (Liquefaction) เกิดขึ้นเมื่อดินทรายใต้ดินที่มีน้ำแทรกอยู่เต็มถูกบีบคั้น เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว จนน้ำทะลักขึ้นมาบนผิวดินตามรอยแตก โดยมีทรายกับโคลนก็ไหลออกมากับน้ำด้วย http://www.youtube.com/watch?v=qmVYbjiNWds

ภาพทรายผุดใต้พื้นบ้าน ที่เกิดขึ้นระหว่างการเกิดแผ่นดินไหว ในพื้นที่ต.ธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย
ภาพทรายผุดใต้พื้นบ้าน ที่เกิดขึ้นระหว่างการเกิดแผ่นดินไหว ในพื้นที่ต.ธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย

 

เฝ้าระวังดินถล่ม

รอยแตกลึกบนพื้นดินตามเชิงเขาบ่งบอกความเสี่ยงต่อภัยดินถล่ม เนื่องจากยังคงมีแผ่นดินไหวตามเกิดขึ้น นอกจากนี้ควรระมัดระวังดินถล่มขณะเกิดฝนตกหนัก น้ำอาจซึ่มลงไปตามแนวรอยแตกและทำให้มวลดินมีน้ำหนักมากขึ้น จนอาจเกิดดินถล่มขึ้นได้ กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณีได้ดำเนินการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล จำแนกพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดดินถล่ม และหมู่บ้านเสี่ยงภัย ทั่วประเทศไทย สามารถดูข้อมูลได้ เว็บไซต์กรมทรัพยากรธรณี

แนะนำ หนังสือ แกะรอยแผ่นดินไหว ลมหายใจแห่งรอยเลื่อน  โดย รชฎ มีตุวงศ์ สำนักพิมพ์อมรินทร์ สารคดีเข้ารอบรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปีพุทธศักราช 2555
แนะนำ หนังสือ แกะรอยแผ่นดินไหว ลมหายใจแห่งรอยเลื่อน โดย รชฎ มีตุวงศ์ สำนักพิมพ์อมรินทร์ สารคดีเข้ารอบรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปีพุทธศักราช 2555

Hot Line สายด่วน เรื่องดินถล่ม โทร. 02-2023926 (เวลาราชการ)

การศึกษารอยเลื่อนมีพลัง

การศึกษารอยเลื่อนมีพลังนั้นมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสภาพธรณีวิทยาของพื้นที่และจุดประสงค์ของการสำรวจ นอกจากการแปลความหมายจากแผนที่ภูมิประเทศแล้ว การสำรวจธรณีฟิสิกส์ก็สามารถช่วยในการหาตำแหน่งของรอยเลื่อนได้เช่นกัน เช่น การสำรวจความต้านทานศักย์ไฟฟ้าใต้ดิน การสำรวจความผิดปกติสนามแม่เหล็กโลกหรือแรงโน้มถ่วง การสำรวจคลื่นไหวสะเทือน สำหรับพื้นที่ตามแนวรอยเลื่อนมีพลังที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย ก็จะมีการขุดร่องสำรวจชั้นดินเพื่อดูว่าในอดีตมีการเลื่อนไปแล้วกี่ครั้งมากน้อยแค่ไหน ในระหว่างขุดก็จะมีการเก็บเศษผงถ่านในชั้นดินไปตรวจหาอายุด้วย เพื่อคำนวณหาช่วงเวลาที่รอยเลื่อนขยับตัว การที่เราต้องรู้ว่ารอยเลื่อนมีการขยับตัวเมื่อไหร่ในอดีต ก็เพื่อที่จะนำมาใช้ประเมินการขยับตัวครั้งต่อไปในอนาคต

อยู่ร่วมกับรอยเลื่อนมีพลัง

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการให้ความรู้เกี่ยวกับรอยเลื่อนมีพลัง แม้แผ่นดินไหวจะไม่รุนแรง แต่ภัยที่เกิดจากการสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรง หรือดินถล่มเนื่องจากแผ่นดินไหวก็ยังคงมีความน่าเป็นห่วงในหลายพื้นที่ของจ.เชียงราย การเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวจึงเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นให้มีการตรวจสอบอาคารที่อยู่อาศัยทุกหลัง แผ่นดินไหวไม่สามารถทำนายได้ เมื่อเราอยู่ในเขตรอยเลื่อนมีพลังแล้ว ก็จะต้องเข้าใจว่ามีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้อีกในอนาคต แนะนำ รายชื่อหมู่บ้านที่รอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน  ข้อมูลโดย กรมทรัพยากรธรณี แนะนำ หนังสือการ์ตูนแผ่นดินไหวภัยใกล้ตัว  จัดทำโดย กรมทรัพยากรธรณี

แนะนำ หนังสือ แผ่นดินไหว พิบัติภัยที่คนไทยต้องพร้อมรับมือ โดย ดร.ไพบูลย์ นวลนิล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
แนะนำ หนังสือ แผ่นดินไหว พิบัติภัยที่คนไทยต้องพร้อมรับมือ โดย ดร.ไพบูลย์ นวลนิล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ข้อมูลเพิ่มเติม