บทความแนะนำ — December 11, 2009 at 12:55 AM

นักธรณีวิทยากับความแข็งแรง

by

ความฟิตทางร่างกาย

งานภาคสนามของนักธรณีวิทยาถือเป็นการออกกำลังกายแบบอิสระและไม่ซ้ำซากจำเจอย่างที่โรงยิมให้เราไม่ได้:

• สำหรับขาและเท้า เราจะได้บริหารทั้งการเดินไกลๆ คุกเข่า หมอบคลานและยืนบนปลายเท้าบนหินโผล่
• สำหรับความแข็งแกร่งของแกนร่างกายและเส้นเลือดหัวใจ การแบกเป้ไปพร้อมๆ กับตะเกียกตะกายข้ามเนินเขา ลุยลงตามร่องลำธาร หรือปีนป่ายหินโผล่จะช่วยได้อย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการเอื้อมจนสุดแขนเพื่อคว้าเอาก้อนหิน/แร่ที่หลบอยู่ หรือการนอนราบกับพื้นเพื่อดูลักษณะหินโผล่อย่างละเอียดอีกด้วย
• ร่างกายส่วนบนเราจะบริหารด้วยการพลิกและยกหิน พร้อมๆ กับการฟิตกล้ามเนื้อแขนโดยไม่ต้องใช้เวทแต่เหวี่ยงค้อนทุบหินแทน หากยังไม่พอบางครั้งก็อาจได้ทำกิจกรรมพิเศษ เช่น เจาะแท่งหิน ถือแผนที่ไว้ในอากาศโดยที่มืออีกข้างก็ปัดพุ่มไม้ที่ขวางทางออกไปด้วยระหว่างเดินป่า เป็นต้น
• สุดท้ายคือการบรรยายความรู้ทางธรณีวิทยา ซึ่งต้องใช้มือและแขนอย่างหนัก โดยเฉพาะนักธรณีวิทยาโครงสร้าง จนกลายเป็นเรื่องตลกที่ว่า ถ้าหากอยากให้นักธรณีวิทยาหุบปากล่ะ ก็ให้มัดมือมัดแขนเขาลงเสีย!

ในตอนท้ายสุดของวันเราจะได้บริหารทุกสัดส่วนด้วยการแบกตัวอย่างหินทั้งหมดกลับไปที่รถ เห็นมั้ยล่ะว่าทุกๆนาทีช่างแตกต่าง หลังจากนี้ความเหนื่อยล้าก็จะมาเยือนซึ่งช่วงเวลาการผ่อนคลายกล้ามเนื้อของนักธรณีวิทยาก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าเครื่องดื่มดีๆ ในที่พักหย่อนใจซักแห่งเท่านั้นเอง

ความแข็งแกร่งทางจิตใจ

ในทุกย่างก้าวในสนามนักธรณีวิทยาใช้สายตาและจิตใจทำงาน เพราะงานจะคืบหน้าไปได้ต้องอาศัยความช่างสังเกตอยู่ตลอดเวลา มีคำกล่าวไว้ว่านักธรณีวิทยาที่ดีที่สุดคือคนที่ได้ดูหินมากที่สุด การดูหินนั้นเป็นการบริหารความคิดอย่างเข้มข้น

การเข้าสังคม

นานมาแล้วที่ธรณีวิทยาเป็นงานฉายเดี่ยว ทีมที่เข้ากันได้ดีย่อมทำงานด้านวิทยาศาสตร์ได้ดีกว่า นักธรณีวิทยาที่เจ๋งที่สุดนอกจากจะรู้จักหินเกือบทั้งหมดแล้วยังต้องทำงานกับคนอื่นเก่งด้วย นอกจากนี้ยังต้องส่งอีเมล์ได้มีประสิทธิภาพได้เท่าๆกับงานสนาม เพราะหากเราลองเหลือบดูชื่อผู้เขียนบทความทางวิชาการแล้วจะเห็นได้ว่าผู้ร่วมงานเราอาจอยู่ที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้

นักธรณีวิทยายังอาจต้องผ่านด่านเจ้าของพื้นที่ขี้ระแวงเพื่อจะได้เข้าไปสำรวจในบริเวณของพวกเขา นี่ยังไม่รวมคนแปลกหน้า (เช่น พวกลักลอบตัดไม้) และเจ้าหน้าที่ใจแคบในเขตสงวนบางแห่ง ความเป็นไปได้ทั้งหมดนี้ต้องการทักษะการเข้าสังคมที่ดี และหลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ต่างๆ มาแล้วนักธรณีจะได้มีเรื่องมาเล่าสู่กันฟัง (โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาสังสรรค์อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว!)

อันตรายในงานสนาม

แม้ว่าจะได้ประโยชน์ด้านความฟิตดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ในสนามก็มีอันตรายบางอย่างแฝงอยู่เช่นกัน ช้าง งู และสัตว์ใหญ่อื่นๆ ทำให้ทักษะการป้องกันตัว การใช้อาวุธ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกพื้นที่ไปเลย การตกจากที่สูง บาดแผล และอาการเคล็ดต้องการทักษะด้านการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีพืชมีพิษอีกหลายชนิดที่ต้องคอยระวังอีก แม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันจะช่วยกำจัดหลายความเสี่ยงเหล่านี้ออกไปแล้ว แต่ว่าการได้ผ่านและคุ้นเคยกับการเอาตัวรอดจากความโหดร้ายของป่าก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรจะมีไว้

ประเด็นต่อมาคือแสงแดด การต้องอยู่กลางแดดจัดหลายชั่วโมง ทำให้มะเร็งผิวหนังเป็นโรคเสี่ยงประจำอาชีพของนักธรณีวิทยา

สุดท้ายแล้ว ถือว่าจำเป็นเลยที่เราต้องขับรถเก่ง และจะช่วยได้มากถ้ารู้จักการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆอย่างคล่องแคล่ว เพราะนักธรณีวิทยาทุกคนต้องมีอย่างน้อยเรื่องหนึ่งกับ รถยนต์ เรือ หรือเครื่องบิน!

Lav@Girl