บทความแนะนำ, สัมภาษณ์ — September 30, 2012 at 8:50 PM

พระพุทธรูปแกะสลักเขาชีจรรย์ – การเริ่มต้น

by

ความรู้และประวัติโครงการก่อสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ “พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา” อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
บันทึกโดย ดร.เดชา หลวงพิทักษ์ชุมพล ผู้อำนวยการโครงการฯ

หน้าผาหินปูนเขาชีจรรย์ ก่อนการก่อสร้าง

ความเป็นมา

พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการพัฒนาพื้นที่วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี โดยมีสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์และมีเจตนารมณ์สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปแกะสลักหินประจำรัชกาลที่ 9 ในวาระทรงครองราชย์ฯ 50 ปี

การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2537 และกำหนดรูปแบบพระพุทธรูปเป็นพระพุทธรูปนั่งปรางค์มารวิชัยขนาดความสูงขององค์พระพุทธรูป 109 เมตร มีฐานบัว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิฉัยฯ สรุปได้ว่า สมควรจัดสร้างเป็นแบบลายเส้น แต่ให้ลึกและชัดขึ้นเห็นเป็นรูปพระพุทธรูปในระยะไกลจะดีกว่าการสร้างแบบนูนต่ำ ซึ่งไม่เหมาะสมเพราะจะมีปัญหาในด้านการบำรุงรักษาตลอดจนระยะเวลาและค่าก่อสร้าง เพราะเป็นเขาหินปูนและให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยโดยกันพื้นที่ด้านหน้าใกล้องค์พระเป็นเขตห้ามเข้าเด็ดขาด

“พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา” หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดาที่รุ่งเรืองสว่างประเสริฐสุดเพียงมหาวชิร

ปี พ.ศ. 2538 ในเดือนมิถุนายน หลังจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) ได้ทำการสรรหาและคัดเลือกบริษัทฯ ที่เหมาะสมแล้วคณะกรรมการฯ จึงได้ว่าจ้างบริษัท อินเตอร์แนชั่นแนลบลาสเตอร์ จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการโครงการฯ ในวงเงิน 43,305,800 บาท ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยสถาบัน AIT เป็นวิศวกรที่ปรึกษาและผู้ควบคุมงาน

 

ธรณีวิทยา 

หน้าผาเขาชีจรรย์เป็นเหมืองหินเก่า มีความสูงประมาณ 170 เมตร หันหน้า (ด้านที่ระเบิดออก) ไปทางทิศเหนือโดยประมาณ เริ่มแรกใช้วิธีการวาดรูปพระพุทธรูปบนหน้าผาโดยการห้อยเชือกวาดโดยนาวิกโยธินจากฐานทัพเรือสัตหีบ ต่อมาภายหลังได้มีการฉายเลเซอร์เป็นภาพไปบนหน้าผาเพื่อความแม่นยำในการแกะสลัก

โครงการนี้ต้องมีการศึกษาธรณีวิทยาอย่างละเอียด และอาจจะเป็นการดูหินที่หวาดเสียวที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ เพราะนักธรณีวิทยาที่รับผิดชอบงานนี้จะต้องห้อยโจนทะยานตรวจสอบสภาพหินในระดับความสูงเกือบ 200 เมตร

หน้าผาเขาชีจรรย์ประกอบด้วยหินปูนยุคออร์โดวิเชียน ที่ถูกแปรสภาพจากการแทรกตัวของหินแกรนิต ทำให้หินปูนดังกล่าวบางส่วนกลายสภาพเป็นหินแปรชนิดหินอ่อนและหินแคลซ์ซิลิเกต สีเทาดำสลับขาว หิน

แรงระเบิดจากการทำเหมืองหินในอดีตประกอบกับการแทรกตัวของหินแกรนิตทำให้หินบริเวณหน้าผามีสภาพแตกร้าว มีรอยเลื่อนและคดโค้งมากมาย

การโหนเชือกสำรวจหน้าผาหินปูน

กำเนิดโครงการ

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์แห่งนี้ โดยมี ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ปรมาจารย์ทางธรณีวิทยาของไทย เป็นผู้ที่ทำให้โครงการ ”มหัศจรรย์” นี้ กลายเป็น “ฝันที่เป็นจริง” เพราะก่อนหน้านั้นเกือบจะกลายเป็น “หมัน” ไปซะ ด้วยว่าบรรดานักวิชาการทั้งไทยและเทศ(จีน) ที่เชิญมาดูที่หน้าผาต่างพากันส่ายหัว แล้วพากันชัวร์ว่า ”ไม่น่าจะเป็นไปได้” ด้วยราคาและเวลาอันจำกัดขนาดนี้ (น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปแกะสลักหินประจำรัชกาลที่ 9 ในวาระทรงครองราชย์ฯ ได้ 50 ปี)

“เหนือฟ้ายังมียานอวกาศฉันใด เหนือข้าวหมกไก่ย่อมมีหอมซอยเจียวฉันนั้น!” พอท่านอาจารย์ปริญญา คิดตกจึงได้ยกหูหา คุณชวลิต ถนอมถิ่น ให้มาคิดเป็นการบ้านว่า ”จะเป็นไปได้มั้ย” ที่จริงผมก็ตอบแทนคุณชวลิตที่เป็นเจ้านายได้อย่างทันทีว่า ”เป็นไปได้แน่นอนครับจารย์” เพราะตั้งแต่ท่านเป็น ”เจ้านาย” ผมมากว่า 15 ปี “ไม่มีอะไรที่นักธรณีฯทำไม่ได้!” ซึ่งเป็นวลีที่ติดหัวติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้

 

ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย (คนยืนตรงกลาง) กับลูกศิษย์ AIT ระหว่างออกภาคสนาม ผู้เขียนนั่งพื้น

 

“แล้วเราจะเริ่มต้นกันยังไงดี?”

หลังจากศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย คณบดีคณะวิศวกรรมธรณีและการขนส่ง (Geotechnical and Transportation Engineering Division) ในสมัยนั้น มั่นใจว่าทำได้แน่ (แต่ ”ผู้ที่อาจจะได้ทำ” ก็ยังเบลอๆอยู่) จึงรับเป็นเจ้าภาพเตรียมเอกสารการประมูลและคัดเลือกบริษัทที่มีศักยภาพสำหรับดำเนินการก่อสร้างโครงการ ”ศักดิ์สิทธิ์และอาเม้ซซิ่ง” ครั้งนี้

และผลการประมูลและคัดเลือกโดย AIT ก็ออกมาว่าบริษัท IBC (International Blaster Company) ของนักธรณีไทยได้ที่ 1 ในราคาประมาณ 44 ล้านบาท ส่วนที่ 2 ตามมาห่างๆ (มากๆๆๆๆๆ) ก็เป็นของคนไทย แต่ชื่อกลายเป็น “ลูกครึ่งสปาเก๊ตตี้” ก็คือ ITD (Italian-Thai Development) ในราคา 100 กว่าล้าน ส่วนที่ 3 จากจีน (มั้ง) ปิดท้ายบ๋วยด้วยราคาร่วม 200 ล้าน

พอทราบผลการประมูลของงานนี้ ที่เงินหล่นหายไปร่วมร้อยล้าน แต่ก็ไม่เสียดายและเสียใจเลยแม้แต่นิด ได้แต่คิดหวั่นใจลึกๆ ว่า “แล้วเราจะทำได้มั้ยเนี่ย!”

“เฮ้ย เด งานนี้คุณเป็น Project Director นะ ให้ไอ้ฟูเป็น Project Manager” เอาเข้าแล้วไง หลังได้ยินสิ้นเสียงคำสั่งจากเจ้านาย (คุณชวลิต ถนอมถิ่น) ทำให้ผมรู้สึกอย่างไรบอกไม่ค่อยถูก ดีใจที่ได้รับผิดชอบ ได้รับเกียรติดูแลการก่อสร้างโครงการที่ “ศักดิ์สิทธิ์และอาเม้ซซิ่ง”อย่างนี้ ถ้าจะใช่ ก็แค่แว้ปสั้นๆ เพียงแป๊บเดียว จะบาปมั้ยน้า เราน่าจะปลื้มปิติสิที่จะได้สร้างกุศลสร้างพระที่ไม่เพียงแต่องค์ใหญ่มากเท่านั้น รูปแบบการก่อสร้างก็แปลกใหม่ไม่เหมือนที่ไหนในโลกอีกด้วย

 

แต่..

ความรู้สึกจริงๆ ของข้าพเจ้าที่จำได้นั้น ”หนักใจ” ซะมากกว่า ตำแหน่ง Project manager ที่วางตัวไว้ไม่มีปัญหา น้องปัญจะ (ปัณณวัฒน์ วัจฉละกมล) ใช้ได้ดีทีเดียว (ห้ามใช้สองที) แต่ที่น่าหวาดเสียว ไม่ค่อยน่าไว้วางใจ ก็ไอ้ตัวของข้าพเจ้าเองนี่แหละ แม้จะมีการคิดวิธีการเม็ดตอดสเตทฝัด เอ๊ย สเตทเม้นท์ไว้ก่อนบ้างแล้วก็ตาม แต่หลายๆ อย่างยังไม่ค่อยเคลียร์นัก พอจะทำเข้าจริงๆ มีเครื่องหมาย “คำถาม” เต็มกะบาลไปหมด

“เราจะขนคนขนของขึ้นไปบนหน้าผากันอย่างไร?” – บันได? ลิฟท์? วิ้นช์? รอก?

“จะปฏิบัติงานบนหน้าผากันอย่างไร?”- นั่งร้าน ห้อยเชือก?

“จะเอาแรงงานมาจากที่ไหนที่มีประสบการณ์?” คนงานเช็ดกระจกตึกสูง? ช่างแกะลลัก? (ไม่น่าจะใช่)

“จะปรับหน้าผาให้เรียบด้วยวิธีใดดี” ใช้สลิงตัดหินอย่างเหมืองหินอ่อน dimension stone? หรือปลอกด้วยระเบิด?

“จะขึ้นรูปหรือวาดรูปพระบนหน้าผากันอย่างไร” ตีกริดวาดดั่งจิตรกร? (ตอนนั้นเรื่อง”เลเซอร์”ยังไม่มีอยู่ในหัว!)

และ จะ ๆๆ ฯลฯ ??

ขวาสุด: ผู้จัดการโครงการ-คุณปัญจะ/ปัณณวัฒน์ วัจฉละกมล, ถัดมา กรรมการผู้จัดการ-คุณชวลิต ถนอมถิ่น ตามด้วย ผู้อำนวยการโครงการ/รองกรรมการผู้จัดการ-ผู้เขียน และปิดท้ายซ้ายสุด ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ-คุณอรรณพ สุรภักดี – กำลังนั่งเครียดปวดหมอง เพราะในห้องห้ามสูบบุหรี่!