หินแร่, โลกของเรา — December 24, 2008 at 6:40 AM

จำแนกแร่ในสิบขั้นตอน

by
โลกนี้มีแร่มากมายหลายชนิด หน้าตาแตกต่างกันออกไป บางแร่สวยงาม บางแร่มีลักษณะโดดเด่น การที่จะรู้ได้ว่าแร่ที่เรามีอยู่นั้นคือแร่อะไร จำเป็นจะต้องมีวิธีการจำแนกอย่างมีระบบ โดยวิธีที่เป็นสากล สำหรับผู้เริ่มต้นก็สามารถวิเคราะห์แร่เบื้องต้นได้อย่างง่ายดาย ด้วยสิบขั้นตอนต่อไปนี้ ก็สามารถทำให้คุณกลายเป็นผู้เชียวชาญในการจำแนกแร่ขั้นเทพได้เลยทีเดียว

ขั้นตอนที่ 1 คัดเลือกแร่

การเรียนรู้วิธีการจำแนกแร่ก็เหมือนกับการเรียนรู้วิธีการทำอาหาร ในตอนแรกก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ อย่างมีลำดับ ซึ่งดูเหมือนจะมากมายเหลือเกิน แต่หลังจากนั้นสักพัก เราก็จะเริ่มจดจำสิ่งต่างๆ ได้ และเริ่มมีความคุ้นเคย แม้อาจจะมีผิดพลาดบ้าง แต่สุดท้ายก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้สึกว่าง่ายและสนุกกับมัน

สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการสังเกตและตรวจสอบแร่ของเราก่อน โดยเลือกก้อนตัวอย่างที่ขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถหาได้ และหากมีหลายชิ้นก็ต้องมั่นใจว่าทุกชิ้นมีแร่ชนิดเดียวกัน จากนั้นให้พินิจพิจารณาแร่ด้วยการทดสอบคุณสมบัติต่างๆ ของแร่ที่ซึ่งจะกล่าวต่อไปทั้งหมดทีละขั้นตอน พร้อมกับการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การระบุชนิดแร่ได้อย่างถูกต้อง

ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง อยากให้ทำความเข้าใจกับคุณสมบัติทางกายภาพของแร่ก่อน ซึ่งสามารถอ่านได้จากบทความ
———————————– คุณสมบัติทางกายภาพของแร่ ————————————–

 

ขั้นตอนที่ 2 ประกาย (Luster)

ประกายคือการที่แร่สะท้อนแสงให้เราเห็น และเป็นกุญแจดอกแรกของการจำแนกแร่ ควรมองหาประกายจากผิวหน้าที่สดสะอาด ชนิดของประกายหลักๆ ประกอบด้วย ประกายเหมือนโลหะ (metallic) ประกายเหมือนแก้ว (glassy, vitreous) และประกายเหมือนดิน (dull) ประกายที่ก้ำกึ่งระหว่างประกายเหมือนโลหะกับประกายเหมือนแก้ว เรียกว่า ประกายเหมือนเพชร (adamantine) และประกายที่ก้ำกึ่งระหว่างประกายเหมือนแก้วกับประกายเหมือนดิน เรียกว่า ประกายเหมือนยางสน (resinous, waxy)

 

ขั้นตอนที่ 3 ความแข็ง (Hardness)

ใช้ระบบการจำแนกตามลำดับขั้นความแข็งของโมห์ (Mohs hardness scale) ค่าความแข็งที่สำคัญอยู่ระหว่าง 2 ถึง 7 ในขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้เล็บของเราให้เป็นประโยชน์ (ความแข็งประมาณ 2) หรือใช้เหรียญ (ความแข็งประมาณ 3) หรือใช้มีดพับหรือตะปู (ความแข็งประมาณ 5.5) หรือใช้แร่ที่รู้ความแข็งแน่นอนเป็นตัวทดสอบ

 

ความแข็ง คือ ความคงทนต่อการขีดขูด แร่แต่ละชนิดจะมีความแข็งเฉพาะตัว แร่ที่มีความแข็งมากจะสามารถขีดบนแร่ที่มีความแข็งน้อยกว่าเป็นรอยได้ ความแข็งของแร่แบ่งเป็น 10 ระดับตามระบบของโมห์ (Mohr’s scale of hardness) ได้ดังนี้ โดยตัวเลขเรียงจากแร่ที่มีความแข็งน้อยไปหามาก สัญลักษณ์แสดงตัวอย่างวัสดุที่ใช้ทดสอบแร่
ความแข็ง คือ ความคงทนต่อการขีดขูด แร่แต่ละชนิดจะมีความแข็งเฉพาะตัว แร่ที่มีความแข็งมากจะสามารถขีดบนแร่ที่มีความแข็งน้อยกว่าเป็นรอยได้ ความแข็งของแร่แบ่งเป็น 10 ระดับตามระบบของโมห์ (Mohr’s scale of hardness) ได้ดังนี้ โดยตัวเลขเรียงจากแร่ที่มีความแข็งน้อยไปหามาก สัญลักษณ์แสดงตัวอย่างวัสดุที่ใช้ทดสอบแร่

 

ขั้นตอนที่ 4 สี (Color)

สีแร่มีความสำคัญมากในการจำแนกแร่ แต่ความหลากหลายของสีอาจทำให้เกิดความสับสนได้ ผู้เชี่ยวชาญมักจะจำแนกแร่ด้วยสีได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากมีประสบการณ์กับสีที่ปกติและสีที่ไม่ปกติของแร่สามัญเป็นอย่างดี แต่ถ้าเรายังไม่ชำนาญก็ควรที่จะให้ความสำคัญกับการจำแนกสีแร่ แต่ก็อย่าเชื่อได้ทั้งหมด สิ่งแรกเลยที่ต้องรู้ไว้ก็คือว่าไม่ควรดูสีจากผิวหน้าที่มีการผุพังหรือถูกขัดสี และต้องดูภายใต้แสงไฟที่ดีด้วย

สีแร่ค่อนข้างที่จะเป็นตัวชีวัดแร่ที่ดี โดยเฉพาะแร่ทึบแสง (opaque) และแร่โลหะ (metallic) ตัวอย่างเช่น สีน้ำเงินของแร่ lazurite หรือสีทองเหลืองของแร่ pyrite

สำหรับแร่โปร่งแสง (translucent) หรือแร่โปร่งใส (transparent) สีแร่มักเป็นผลของความไม่บริสุทธิ์โดยกระบวนการทางเคมี ดังนั้นควรใช้คุณสมบัติอื่นๆ ช่วยในการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น แร่ quartz ที่มีหลากหลายสี

จงพยายามแม่นยำกับการระบุสีแร่ ว่ามีประมาณความเข้มของสีมากน้อยเพียงใด หรือเทียบกับสิ่งอื่นๆ ที่มีสีเหมือนกันก็ได้ ดูด้วยว่ามีสีเดียวหรือหลากหลายระดับของสี

ถ้าสมมติว่ามีแสงฟลูออเรสเซนต์ ก็จะสามารถตรวจสอบแร่ที่มีการเรืองแสงได้ (fluorescent color) จดบันทึกไว้ด้วยหากแร่แสดงสีพิเศษแตกต่างจากสีธรรมดา

 

ขั้นตอนที่ 5 สีผง (Streak)

สีผงคือสีเศษผงของแร่ที่ถูกขูด สีผงค่อนข้างที่จะเชื่อถือได้มากกว่าสีแร่และจำเป็นมากในการจำแนกแร่บางชนิด เราจำเป็นจะต้องมีแผ่นกระเบื้อง (ไม่เคลือบ) หรืออะไรก็ได้ที่สามารถขูดแร่ออกเป็นผงได้ นำตัวอย่างแร่มาขูดกับกระเบื้อง แล้วสังเกตสีจากเศษผงแร่ที่ติดอยู่กับกระเบื้อง

 

ขั้นตอนที่ 6 ลักษณะรูปแบบผลึก (Crystal Form) และลักษณะของแร่ (Mineral Habit)

ความรู้เรื่องผลึกนั้นมีประโยชน์อย่างมากเมื่อเรามีความชำนาญมากขึ้น แต่โดยทั่วไปแร่มักจะไม่แสดงหน้าผลึกให้เห็น ดังนั้นเราก็จะข้ามขั้นตอนนี้ไป สำหรับผู้เริ่มต้นนั้น ลักษณะรูปแบบผลึกของแร่ค่อนข้างจะมีความสำคัญน้อยกว่าแนวแตกของแร่ (ขั้นตอนต่อไป) แต่ถ้าต้องการรู้ลักษณะรูปแบบผลึกของแร่จริงๆ เราอาจต้องใช้ตำราประกอบการพิจารณา

สิ่งหนึ่งที่ผู้เริ่มต้นสามารถทำได้ก็คือการสังเกตลักษณะของแร่หรือรูปแบบทั่วไปของแร่ที่เป็นอยู่ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

ขั้นตอนที่ 7 แนวแตก (Cleavage) และการแตก (Fracture)

แนวแตกคือรูปแบบของแร่่เมื่อแตก หลายๆ แร่แตกเป็นแนวเรียบหลายแนว หรือเรียกว่าแนวแตก บางชนิดมีแนวแตกเพียงหนึ่งทิศทาง (เช่นแร่พวก mica) หรือมีแนวแตกสองทิศทาง (เช่นแร่พวก feldspar) หรือมีแนวแตกสามทิศทาง (เช่นแร่ calcite)หรือมากกว่าสามทิศทาง (เช่น fluorite) แร่บางชนิด เช่นแร่ quartz ไม่มีแนวแตก แนวแตกเป็นผลจากโครงสร้างโมเลกุลของแร่ ซึ่งสามารถอธิบายอย่างง่ายๆ ได้ว่า perfect, good หรือ poor

การแตกคือรอยแตกที่ไม่เรียบ การแตกหลักๆ คือการแตกแบบฝาหอย (conchoidal) และการแตกแบบไม่เรียบ (uneven) แร่โลหะอาจมีการแตกแบบขรุขระ (hackly) แร่ๆ หนึ่งอาจมีแนวแตกที่ดีในหนึ่งหรือสองทิศทาง แต่มีการแตกในคนละทิศทางกับแนวแตก

การพิจารณาแนวแตกและการแตก เราจำเป็นต้องมีค้่อนทุบหินและอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัยจากการทุบแร่ ระมัดระวังในการทุบแร่และสังเกตรูปร่างและมุมของเศษแร่ที่แตกออก ซึ่งอาจแตกออกเป็นแผ่น (แนวแตกหนึ่งทิศทาง) แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (แนวแตกสองทิศทาง) หรือเป็นอย่างอื่น

 

ขั้นตอนที่ 8 ปฏิกิริยาต่อแม่เหล็ก (Magnetism)

ปฏิกิริยาต่อแม่เหล็กคือคุณสมบัติที่โดยเด่นของแร่บางชนิด แร่ magnetie คือตัวอย่างแร่ที่ดีที่สุดที่แสดงคุณสมบัตินี้ แต่แร่อื่นๆ อาจแสดงปฺฏิกิริยาต่อแม่เหล็กอย่างอ่อนๆ เช่น แร่ chromite และแร่ pyrrhotite แน่นอนว่าต้องมีแม่เหล็กเป็นตัวทดสอบ

 

ขั้นตอนที่ 9 คุณสมบัติอื่นๆ ของแร่

รส (Taste) คือสมบัติเด่นของแร่ halite (เกลือหิน) แร่อื่นๆ ก็อาจมีรสชาดที่โดดเด่นได้เช่นกัน เพียงแค่แตะลิ้นบนผิวสดของแร่และบ้วนน้ำลายทิ้งทันที ห้ามกลืนเด็ดขาด

ฟองฟู่ (Fizz) เป็นลักษณะของการเกิดปฏิกิริยาของแร่ที่มีคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบกับกรดทดสอบ การทดสอบนี้อาจใช้น้ำส้มสายชูก็ได้

น้ำหนัก (Heft) คือความหนักของแร่โดยความรู้สึกด้วยมือเปล่า เป็นการประมาณความหนาแน่นเบื้องต้น หินส่วนใหญ่มักมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำสามเท่า นั่นหมายความว่าหินมักจะมีความถ่วงจำเพาะ (specific gravity) ประมาณ 3 พยายามสังเกตและบันทึกแร่ที่มีความหนักที่รู้สึกขัดแย้งกับขนาดของแร่

 

ขั้นตอนที่ 10 ระบุชนิดแร่

ตอนนี้เราก็พร้อมที่จะระบุชนิดแร่แล้ว เมื่อเราได้สังเกตและบันทึกสมบัติของแร่ครบเรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถที่จะใช้ข้อมูลเหล่านี้มาตรวจหาชนิดของแร่จากในหนังสือหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย หรือหากไม่แน่ใจหรือเกิดความสงสัย ก็สามารถที่จะกลับไปตรวจสอบในแต่ละขั้นตอนอีกครั้งก็ได้ โดยที่ไม่ต้องเรียงลำดับขั้นตอน

ตัวอย่างเว็บตรวจสอบแร่
http://www.rockhounds.com/rockshop/mineral_id/#Key