สัมภาษณ์ — May 21, 2008 at 12:20 AM

เสือใหญ่เล่าเรื่อง “เก่งกับเฮง”

by
ตามที่เราทราบกันแล้วว่า กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีแผนงานแน่นอนแล้วว่า จะมีการเปิดให้มีการยื่นคำขอสัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในราชอาณาจักรไทยครั้งที่ 20 ในปีนี้ จากประสบการณ์ที่เคยมีส่วนร่วมกับโครงการเช่นนี้หลายครั้ง ผู้บรรยายพบว่า มีอยู่สิ่งๆ หนึ่งที่มักจะเกิดขึ้น ในขั้นตอนของการนำเสนอแผนงานเพื่อให้คณะกรรมการปิโตรเลียมหรือคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบหรือเพื่อพิจารณา ก็คือคำถามเช่นว่า “แน่ใจนะว่าเมืองไทยเรายังมีศักยภาพของทรัพยากรปิโตรเลียมอยู่” “จะมีผู้ยื่นขอสักกี่แปลง ที่ไหนบ้าง” ถ้าเราตอบว่า จะไปรู้เหรอผมไม่ใช่บริษัทน้ำมันนี่ครับ อย่างนี้ก็เป็นไงครับ ครับ แน่นอน วงแตกแน่ๆ

Oil is where we found it VS Where there’’s a will, there’’s a way

โดย นายนเรศ สัตยารักษ์ (อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน)

ข้าราชการของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จำเป็นต้องเข้าใจว่า ผู้ที่ไม่คลุกคลีอยู่ในวงการนักสำรวจปิโตรเลียมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับ เลย์แมนเช่นนี้ ท่านก็จะต้องถาม เพราะว่าไม่รู้ หากเราจะเคี่ยวเข็ญให้ท่านรู้ได้ ก็น่าจะหมายความว่าพวกเราก็ต้องตกงาน เพราะไม่มีใครต้องการเราอีกแล้ว จากความตั้งใจของกระผมในการมาบรรยายที่นี่ ในวันนี้ ก็เพื่อเตือนและกระตุ้นข้าราชการกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า จะต้องไม่ลืมเรื่องการศึกษาและประเมินศักยภาพปิโตรเลียม และก็ได้แนวคิดว่า น่าจะลองลำดับเอาเรื่องการค้นพบ แหล่งปิโตรเลียมที่น่าสนใจในโลกและของเมืองไทยมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อพิจารณาว่าแต่ละที่แต่ละแหล่งนั้น มีการค้นพบอย่างไร เหนื่อยยากแค่ไหน เจอแบบฟลุ๊คๆ หรือเจอโดยใช้ความรู้ความเข้าใจในด้านธรณีวิทยาปิโตรเลียมในการค้นหาอย่างเต็มที่ ในตอนแรกก็ตั้งใจจะใช้ชื่อหัวข้อการบรรยายเรื่องนี้ว่า เก่งกับเฮง แต่พอทราบว่าจะมีชาวต่างชาติเข้าร่วมการประชุมด้วยเช่นกัน ความที่เกรงว่าเขาจะตามการบรรยายไม่ทัน ก็เลยเปลี่ยนใจใช้ชื่อเรื่อง และคำบรรยายในสไลด์เป็นภาษาอังกฤษแทน ก็เลยพ๊ะยี่ห้อซะว่า Oil is where we found it, Versus, Where there’’s a will, there’’s a way แปลเป็นไทยว่า น้ำมันอยู่ในที่ที่เราค้นพบ หรือ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

ในอดีตกาลนานโพ้น เมื่อมนุษย์เรา เพียงแต่ทราบว่า น้ำมันดิบนั้น เป็นสิ่งที่ไหลซึมขึ้นมาจากพื้นดิน และสามารถนำเอามาใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังได้ มนุษย์เราในโลกนี้ รวมทั้งชาวฝางของไทยเรา ก็ใช้วิธีการขอด หรือ ตัก หรือ ซับเอาน้ำมันดิบมาใช้ประโยชน์จนกระทั่งมีการคิดค้นสร้างตะเกียงที่มีประสิทธฺภาพสูง ที่เรียกกันว่า ตะเกียงเวียนนา ขื้นมาได้ และพบว่าน้ำมันก๊าดที่กลั่นมาได้จากน้ำมันดิบนั้น สามารถนำมาใช้จุดให้เกิดแสงสว่างนั้น มีประสิทธิภาพสูงมากกว่าน้ำมันที่กลั่นจากถ่านหินมากมาย ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันก๊าดจึงมีมากขึ้นเป็นลำดับ การขอดหรือตักน้ำมันดิบขึ้นมาใช้ก็ไม่พอเพียงต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น มนุษย์เราจึงคิดค้นวิธีการใหม่ เช่น การเจาะหลุมโดยวิธีกระแทก ซึ่งแน่นอนสถานที่ค้นหาก็จะอยู่บริเวณที่พบน้ำมันดิบซึมขึ้นมานั่นเอง

จนกระทั่งวันหนึ่ง ก็มีคนที่พูดว่า I shall not try to dig by hand any more คนคนนั้นมีชื่อว่า Edwin Drake อดีต
พนักงานเก็บค่าโดยสารรถไฟ ที่รับจ้างเจาะหาน้ำมันให้แก่นักธุรกิจจากนิวยอร์ก เมื่อปี 1857 การเจาะสำรวจกระทำที่ออยล์ ครีก
เมืองตีตุสวิล เพนซิลวาเนีย ที่ที่มีการขอดน้ำมันขายวันละประมาณ 6 แกลลอน ในสถานที่ทุรกันดารเช่นนี้ กลุ่มธุรกิจเป็นห่วงว่า
ชาวบ้านละแวกนั้นจะกริ่งเกร็งในตัวของเดรก ก็เลยจ่าหน้าในจดหมายที่ส่งไปว่า ถึงผู้พันเดรก อย่างไรก็ตามหลังจากลงทุนไปเยอะและใช้เวลาไปนาน กลุ่มผู้ลงทุนก็ถอดใจ และได้ส่งธนาณัติไปหาเดรก พร้อมบอกว่า นี่เป็นเงินก้อนสุดท้ายสำหรับจ่ายหนี้สินที่คั่งค้าง แล้วยกเลิกการปฏิบัติการ ขณะเดียวกัน ที่ตีตุสวิลล์ เมื่อการเจาะดำเนินไปได้ถึงความลึก 69 ฟุต หัวเจาะได้หลุดตกลงไปในหลุมต้องหยุดการเจาะเพื่อพยายามกู้เอาหัวเจาะกลับขึ้นมา วันรุ่งขึ้น ก็พบว่ามีน้ำมันขังอยู่ในท่อเจาะในหลุม เดรกปั้มน้ำมันขึ้นมาแล้วเอาบรรจุไว้ในภาชนะทุกอย่างที่เขามีอยู่ และบ่ายนั้น เขาก็ได้รับธนาณัติพร้อมกับข้อความที่ให้ยกเลิกการทำงาน หลังจากนั้นไม่นาน บริเวณข้างเคียงนั้นก็มีการเจาะหาน้ำมันดิบเต็มไปหมด ต่างก็ประสบความสำเร็จ พบน้ำมันกันมากมาย จนมีผู้กล่าวว่า ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำมันดิบแล้ว ปัญหาจริงๆ ก็คือ ไม่มีถังเหล้าที่จะใช้เก็บน้ำมันดิบต่างหาก

แต่เมื่อมีการคิดค้นวิธีการกลั่นน้ำมันดิบออกมาเป็นน้ำมันเบนซินได้ มีการคิดค้นเครื่องจักรที่ใช้น้ำมันเบนซินแทนที่
เครื่องจักรไอน้ำได้เป็นผลสำเร็จ ความต้องการน้ำมันดิบก็เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ทั่วโลกต่างก็พยายามค้นหา
น้ำมันดิบในแต่ละแห่ง มีความพยายามที่จะศึกษาเรื่องการกำเนิด การกักตัวของน้ำมันดิบ แนวคิดในการสำรวจค้นหา
น้ำมันจึงหลากหลาย ทั้งในด้านพื้นที่และวิธีการ กระจายไปทั่วโลก

ที่เปอร์เซียในปี 1901 นักธุรกิจชาวอังกฤษชื่อ วิลเลียม ดาร์ซี ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมอายุ 60 ปี คลอบคลุมพื้นที่ประมาณสามในสี่ของประเทศ โดยจ่ายค่าธรรมเนียม 20,000 ปอนด์ พร้อมกับสัญญาในการแบ่งผลประโยชน์จากกำไรสุทธิอีกร้อยละ16 แต่หลังจากลงทุนไปแล้วประมาณ 200,000 ปอนด์ ดาร์ซีก็หมดเค้า จนต้องวิ่งไปหากู้เงิน แต่ก็หาคนยอมเสี่ยงด้วยไม่มี รัฐบาลอังกฤษ โดยกองทัพเรือได้พยายามผลักดัน จนในที่สุดก็ได้บริษัทเบอร์มาห์ ออยล์ มาช่วยสนับสนุนทุนในปี 1905 บริษัทนี้ เป็นบริษัทของอังกฤษที่นำเอาน้ำมันดิบจากพม่ามากลั่นขายในตลาดอินเดีย

อย่างไรก็ตามในเดือนพฤษภาคม 1908 บริษัทได้ส่งจดหมายไปถึงดาร์ซีว่า เจาะต่อถึงความลึก 1600 ฟุต ถ้าไม่เจออะไรก็เก็บของ ยกเลิกโครงการ ในวันที่ 25 เมษายน จดหมายยังมาไม่ถึง แต่ว่าในวันนี้ หัวเจาะได้หลุดลงไปในหลุม ต้องหยุดการเจาะเพื่อเก็บเกี่ยวหัวเจาะขึ้นมา ในเวลาตีสี่ของวันรุ่งขึ้น ก็เกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วบริเวณ และทุกคนก็ได้เห็นน้ำมันดิบพุ่งทะลักขึ้นสู่อากาศสูงกว่าสี่สิบฟุต นี่คือการค้นพบแหล่งน้ำมันใหญ่แหล่งแรกในตะวันออกกลาง จากนั้น มีการผลิตน้ำมันจากชั้นหินทรายอนุยุคโอลีโกซิน-ไมโอซิน ประมาณวันละ 11,000 บาเรล

ที่ประเทศคานาดา มีการพยายามค้นหาน้ำมันมาเป็นเวลานานแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านตะวันตกของประเทศ หลังจาก
พยายามมากว่าห้าสิบปี เจาะไปแล้วกว่า 1000 หลุม ใช้จ่ายเงินไปแล้วกว่า 100 ล้านเหรียญ หลังจากการเจาะหลุมแห้งติดต่อกันเป็นหลุมที่ 133 หลุมถัดไปก็จะเจาะต่อเพราะได้มีการเห็นชอบโดยนักธรณีวิทยาถึง 32 คน ในความเหมาะสมในสถานที่เจาะจากข้อมูลการวัดความไหวสะเทือนในเป้าหมายที่เรียกว่า หนึ่งจุดสูง ในชั้นหินของยุคครีเทเชียส ที่ความลึกประมาณ 600 เมตร เมื่อปี 1947 บริษัทอิมพีเรียล ออยล์เจาะหลุม เลอดุค-1 ไม่พบอะไรที่ความลึก 600 เมตร แต่พบน้ำมันที่ความลึก 1532-1544 เมตรในหินปูนยุคดีโวเนียน และเมื่อเจาะหลุม เลอดุค -2 ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของหลุมแรกประมาณสองสามกิโลเมตร ไม่พบอะไรในความลึกที่พบในหลุมแรก แต่เมื่อเจาะต่อลึกลงไป ก็พบน้ำมันมากมายในพืดหินปะการังยุคดีโวเนียน ที่มีความหนา 12 เมตร และมีปริมาณสำรองคำนวณได้ถึง 390 ล้านบาเรล น้ำมันจากแหล่งนี้ ผลิตได้ในอัตราเฉลี่ยถึงวันละ 20,000 บาเรล

แหล่งเพมบีนา ซึ่งถือว่าใหญ่มากที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือนั้น ค้นพบหลังจากที่มีการพยายามกันอย่างมากมายจากหลายบริษัท ในปี 1953 หลังจากที่บริษัทโมบิลได้เจาะลงไปพบร่องรอยน้ำมันดิบที่ความลึก 5330 ฟุต แต่เมื่อทำการทดสอบก็ไม่พบอะไรที่น่าสนใจ หัวหน้าโครงการได้รับคำสั่งว่า ให้เจาะลงไปจนถึงความลึก 9400 ฟุต ซึ่งเป็นความลึกที่ระบุไว้ในสัญญาข้อผูกพัน ถ้าไม่เจออะไรก็ให้เลิก การเจาะดำเนินไปถึงความลึก 9425 ฟุต ปรากฏว่าไม่พบอะไร แต่ได้มีการทดลองวิธีการใหม่นั่นคือ การทำให้ชั้นหินในหลุมเกิดรอยแตก ซึ่งพบว่ามีน้ำมันไหลขึ้นมาจากหลุมในอัตราวันละ 256 บาเรล แหล่งน้ำมันนี้ผลิตได้ถึงวันละ 100,000 บาเรล และขณะนี้ผลิตไปแล้วมากกว่า 12,000 ล้านบาเรล

ที่อลาสก้า มีการบันทึกไว้ว่า ในปี 1959 บริษัทเชลล์และสแตนดาร์ด ออย ออฟ นิวเจอร์ซี หรือเอสโซในปัจจุบัน ได้รับการบันทึกว่าได้เจาะหลุมแห้งที่แพงที่สุดในขณะนั้น ถึงขนาดที่ผู้จัดการท่านหนึ่งกล่าวว่า ค่าเจาะสำรวจหานั้นแพงถึง 5 เหรียญต่อบาเรล และไม่มีทางเป็นไปได้เลยในชีวิตของเรา ที่น้ำมันจะมีราคาซื้อขายสูงกว่า 5 เหรียญต่อบาเรล อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทอาร์โก้ ที่คงสู้ต่อ และในปี 1966 ก็ได้ใช้จ่ายไปสูงมากในการเจาะหลุมแห้งหนึ่งหลุม แต่ก็ยังตัดสินใจที่จะเจาะต่ออีกหนึ่งหลุม เพราะว่า เรือเจาะก็มีอยู่แล้วที่อลาสก้า และจะต้องย้ายเรือเจาะไปเพียง 60 ไมล์เอง บริษัทจะเจาะอีกหนึ่งหลุมและหากไม่พบอะไรก็จะเลิกดำเนินการทั้งสิ้น ปรากฏว่าอาร์โก้เจาะหลุม พรูดโฮ เบย์ สเตท -1 และพบน้ำมันดิบ และจากการเจาะหลุมประเมินผลก็พิสูจน์ว่า แหล่งน้ำมันที่พบนี้เป็นแหล่งน้ำมันขนาดยักษ์ของโลก โดยมีปริมาณสำรองถึง 10,000 ล้านบาเรล ผลิตได้เฉลี่ย 400,000 บาเรลต่อวัน

ในทะเลเหนือ พื้นที่อีกแห่งหนึ่งที่มีดวามสำคัญอย่างยิ่งยวดของวงการน้ำมันของโลก ในบริเวณนี้เริ่มมีประกายความหวังจากการ
ค้นพบแหล่งก๊าซ โกรนิงเก้น ในพื้นที่บนบกของเนเธอร์แลนด์ จากข้อมูล เชื่อกันว่าศักยภาพของทรัพยากรปิโตรเลียมจะต้องมีต่อลงไปในทะเลทางตอนเหนือ เพียงแต่ว่าไดมีการประกาศเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกันอยู่หลายประเทศ จนกระทั่งความตกลงในเรื่องสิทธิทางทะเลเกิดขึ้น นอรเวย์จึงได้ออกประกาศเชิญชวนให้มีการยื่นขอสัมปทานครั้งแรกในปี 1963 และต่อมาในปี 1967 เอสโซ่เจาะพบร่องรอยก๊าซธรรมชาติ จากนั้น ในปี 1969 พบแหล่งก๊าซในทะเลส่วนของอังกฤษ และในปี 1969 เช่นกัน ผู้บริหารของ บริษัทฟิลิปส์ ได้ตัดสินใจที่สำคัญประการหนึ่ง หลังจากเจาะหลุมแห้งมาแล้ว 32 หลุมว่าจะทำอย่างไรกันต่อดี ข้อเท็จจริงก็คือ ได้ทำสัญญาเช่าเรือเจาะไว้แล้ว หากไม่ทำอะไรก็ต้องจ่ายเงินให้เจ้าของเรือเจาะอยู่ดี จะให้ใครมาเช่าช่วงต่อก็ไม่มี และที่ๆ นักธรณีวิทยาเสนอให้เจาะนั้นก็ห่างออกไปอีกไม่ไกล สู้เจาะต่อไปดีกว่า บริษัทจึงเจาะหลุม 2/4-1 ถึงความลึก 1600 ฟุต พบน้ำมันในหินทรายของอนุยุคไมโอซีน แต่หลุมพังระหว่างการทดสอบการไหล จึงย้ายไปเจาะที่หลุม 2/4-2 และช่วงคริสต์มาสของปี 1969 ก็พบน้ำมันดิบในชั้นหินชอล์กของยุคครีเทเชียส ที่ความลึก 3200 ฟุต จากนั้นจึงได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งน้ำมันเอโกฟิส

ที่เกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย บริษัท โทแทล เจาะพบก๊าซธรรมชาติในการเจาะหลุมเพกซิโก้ -1 ตั้งแต่ปี1982 เนื่องจากก๊าซที่พบมีปริมาณไม่มากนัก ดังนั้นจึงต้องรอจนถึงปี 1991 จึงมีการเจาะหลุม นอร์ทเวสเพกซีโก้ -1 และหลุมต่อๆ มา จนได้ทราบถึง
ข้อเท็จจริงว่าแหล่งก๊าซที่มีขนาด 6 ล้านล้านลูกบาสก์ฟุตแหล่งนี้ มีคุณลักษณะและคุณสมบัติของชั้นหินกักเก็บและการกักเก็บที่
พิเศษแปลกไปจากแหล่งกักเก็บก๊าซธรรมชาติโดยทั่วไป

ไปที่ประเทศโคลัมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ มีการพยายามค้นหาปิโตรเลียมในด้านตะวันออกของเทือกเขาแอนดีสมาเป็นเวลากว่า 30 ปี และได้มีผู้พยายามแปลความหมายของข้อมูลการวัดความไหวสะเทือนใหม่ รวมทั้งการนำข้อมูลเก่าไปประมวลผลใหม่ ทำให้มีการสำรวจจัดเก็บข้อมูลแบบ 3 มิติ และในปี 1992 นักธรณีวิทยาของบริษัท บีพี พบว่า โครงสร้างกักเก็บน้ำมันที่อยู่ข้างล่างนั้นเป็นโครงสร้างกักเก็บที่เกิดจากรอยเลื่อนย้อนรอย จากการวางแผนการเจาะใหม่ จาการผลิตโดยใช้ก๊าซอัดกลับลงไปดันน้ำมันดิบ ทำให้แหล่งคูเซียนา สามารถผลิตน้ำมันได้ถึงวันละ 300,000 บาเรลในปี 1995

การแปลความหมายจากข้อมูลการวัดความไหวสะเทือนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสำรวจค้นหาแหล่งปิโตรเลียม
แหล่งใหม่ ทั้งในด้านการแปลความหมายโดยตรง หรือการนำข้อมูลเก่าไปประมวลผลใหม่ หรือการวางแผนการจัดเก็บข้อมูลใหม่

ในประวัติการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทยของเรา ก็มีเรื่องราวคล้ายคลึงนี้เช่นกัน จากข้อมูลการวัดความไหวสะเทือนของบริเวณโครงสร้างของหลุมเจาะกุฉินารายณ์ จากผลการเจาะที่ระบุออกมาว่า ชั้นหินตั้งแต่ผิวดินไปจนถึงความลึกสุดท้าย ล้วนตะเป็นหินตะกอนสีแดง ทำให้มีการเสนอแนวความคิดออกมาหลากหลาย แต่ที่จะส่งผลกระทบในด้านลบมากที่สุดก็คือ ความเชื่อที่ว่า ใต้กลุ่มหินโคราช เป็นหินตะกอนสีแดงของยุคเพอร์เมียน นั่นก็หมายความว่า ใต้ที่ราบสูงโคราชเป็นหินตะกอนยุคเพอร์เมียนที่ตกสะสมตัวบนแผ่นดิน ไม่เหมือนกับตะกอนยุคเพอร์เมียนที่ตกสะสมตัวในทะเลซึ่งพบเห็นว่าวางรองรับอยู่ข้างล่างกลุ่มหินโคราช ตามที่เห็นเป็นหินโผล่ในพื้นที่ทางตะวันตกของที่ราบสูงโคราช นั่นก็หมายความว่า ศักยภาพของทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ที่ราบสูงโคราชมีต่ำมาก การแปลความหมายโดยใช้แนวคิดใหม่และข้อมูลใหม่ระบุว่า หินตะกอนสีแดงใต้กลุ่มหินโคราชที่โครงสร้างกุฉินารายณ์นั้น เป็นของหินยุคไทรแอสสิก ดังนั้น ศักยภาพและโอกาสในการค้นพบปิโตรเลียมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จึงยังคงเปิดกว้างเหมือนเดิม

ในการแปลความหมายของโครงสร้างชนบท ซึ่งเอสโซตั้งใจว่าจะเจาะเพื่อทดสอบศักยภาพปิโตรเลียมของหินตะกอนยุคเพอร์เมียนโดยอาจเป็นชั้นหินที่ตกสะสมตัวในขอบทะเล หรือเป็นชั้นของพืดหินสาหร่าย ปรากฏว่าบริษัทต้องทิ้งหลุมที่ความลึก 3,601 เมตร เนื่องจากปัญหาการสูญเสียการหมุนเวียนของน้ำโคลน ไม่สามารเก็บข้อมูลของหลุมในส่วนที่อยู่ลึกๆได้ แต่หลังจากนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้แปลความหมายใหม่ว่า ชั้นหินที่เอสโซคิดว่าเป็นตะกอนยุคเพอร์เมียนนั้น จริงๆแล้วเป็นตะกอนยุคไทรแอสสิก ส่วนหินเพอร์เมียนนั้นวางตัวอยู่ข้างล่างลงไปอีก จอห์น บูธ นักธรณีวิทยาของบริษัทอเมอราดา เฮส มีความเห็นแตกต่างไป เขานำข้อมูลไปประมวลผลใหม่และให้ข้อคิดเห็นว่า ชั้นหินเพอร์เมียนที่วางอยู่ข้างใต้โครงสร้างชนบทนั้น ไม่ได้วางตัวเป็นระเบียบสวยงามเหมือนเช่นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเสนอ แต่ว่าเป็นชั้นหินในลักษณะของโครงสร้างรอยเลื่อนย้อนรอยที่ซับซ้อน และจาการการเจาะหลุมภูเวียง -1 ก็ปรากฏว่า แนวความคิดของบูธ น่าจะถูกต้องที่สุด

จากแนวคิดและวิธีการใหม่นี้ จอห์น บูธ จึงได้นำเสนอแผนการเจาะเพื่อพัฒนาโครงสร้างภูฮ่อมให้เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ของไทยเรา ซึ่งผลก็ปรากฏว่าเป็นแนวคิดที่ทำให้เราสามารถค้นพบและผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งภูฮ่อมได้ในที่สุด

ในอ่าวไทยของเรา ข้อมูลการสำรวจในปีต้นๆของ 1970 แสดงให้เห็นถึงโครงสร้าง A ที่บริษัทยูเนียน ออยล์ พบว่า เป็นโครงสร้างรูปประทุนคว่ำ ที่มีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณที่พิสูจน์แล้ว 1 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต แผนการผลิตจึงวางไว้ว่า จะสามารถส่งก๊าซได้วันละ 125 ล้านลูกบาศก์ฟุต แต่เมื่อมีการผลิตก็พบว่า โครงสร้างรูปประทุนคว่ำของแหล่งซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าเอราวัณนั้น มิได้เป็นโครงสร้างรูปประทุนชนิดเรียบง่าย แต่ว่ามีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากรอยเลื่อนที่มีอยู่มากมาย โครงสร้างที่แท้จริงต้องเรียกว่า โครงสร้างรูปประทุนอันเนื่องมาจากรอยเลื่อน ทำให้แผนการเจาะและพัฒนาแหล่งต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม โดยแผนการ วิธีการใหม่ ปริมาณสำรองของแหล่ง และปริมาณการผลิตในแต่ละวันกลับเพิ่มขึ้นจากเดิมมากมาย

ในช่วงเริ่มต้นของการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย บริษัท กัลฟ์ ออยล์ ได้เจาะหลุมสำรวจในอ่าวชุมพร ชื่อหลุม 9-466-1X เมื่อปี 1972 พบร่องรอยของน้ำมันดิบ และบริษัทคืนพื้นที่สัมปทานทั้งหมด ต่อมาบริษัทยูเนียน ออยล์ ได้ขอสัมปทานในพื้นที่นี้ มีการสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่บริษัทก็คืนพื้นที่ทั้งหมดเช่นกัน โดยไม่มีการเจาะสำรวจแต่ประการใด

จนกระทั่งบริษัทไทยเชลล์ เข้ามาดำเนินการ โดยมีแนวความคิดว่า แอ่งชุมพรเป็นแอ่งขนาดเล็ก อายุน้อย ปิโตรเลียมที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเคลื่อนตัวไปไกลจากแหล่งกำเนิดนัก น่าที่จะถูกกักเก็บอยู่บริเวณใกล้เคียง และจากการพิจารณา เชื่อว่าน้ำมันดิบที่เกิดจากหินตะกอนยุคเทอร์เชียรี น่าจะกักตัวอยู่ในโพรงของหินปูนยุคเพอร์เมียน ซึ่งในขณะที่แอ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ นั้น มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนและมีถ้ำอยู่ภายใน ต่อมาเมื่อแอ่งทั้งหมดทรุดตัวลงไป ก็ถูกทับถมด้วยตะกอนอายุอ่อนกว่า กลายเป็นโครงสร้างภูเขาใต้ดิน และจากการเจาะหลุมนางนวล เชลล์ก็พบน้ำมันดิบอยู่ในถ้ำหินปูนโบราณ

นักธรณีวิทยาของไทยเชลล์ที่รับผิดชอบโครงการนี้โดยตรงมีสองคน คุณแฟร์ดินัน คอยท์ และ ดร. พิภพ บุญญประสิทธิ์ ซึ่งต่อมาเชลล์ได้มอบของที่ระลึกให้แก่สองท่าน จากรูปจะเห็นดร. พิภพ ยืนเป็นปลื้มถือของที่ระลึก ที่ประกอบด้วยก้อนหินปูนยุคเพอร์เมียน ที่คาดว่าจะเก็บมาจากบริเวณหมู่เกาะอ่างทอง อ่าวชุมพร ในรางวัลนั้น มีคำภาษาอังกฤษเขียนไว้ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า คุณพิภพ ขอขอบคุณท่านในการแหวกคลื่นจนพบถ้ำ

ท่านนักธรณีวิทยาทุกท่าน ท่านนักสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆทุกท่าน ในปี 1958 มีปรมาจารย์ทางธรณีวิทยาท่านหนึ่ง ที่ชื่อว่าศาสตราจารย์ดิ๊กกี้จากมหาวิทยาลัยทัลซา ได้กล่าวสิ่งที่เป็นอมตะและเป็นที่ยอมรับกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ว่า

เรามักจะเจอน้ำมันในที่แห่งใหม่โดยใช้แนวความคิดเก่า
บางครั้งเราเจอน้ำมันในที่เก่าโดยใช้แนวความคิดใหม่
แต่หายากที่เราจะหาเจอน้ำมันเป็นจำนวนมากในที่แห่งเก่าด้วยแนวความคิดเก่าๆ
หลายครั้งในอดีต เราคิดว่าจะไม่มีน้ำมันให้เราเจออีกแล้ว
ทั้งๆที่ ความจริงแล้ว เป็นเพียงแต่เราไม่มีความคิดที่จะหาน้ำมันต่างหาก

ผมคงจะไม่ขอฟันธงว่าในแต่ละกรณีศึกษาที่ผมพูดถึงนั้น อันไหนเป็นเก่ง อันไหนเป็นเฮง แต่จะขอจบการบรรยายในวันนี้ โดยนำเอาสไลด์ประกอบการบรรยายของผม ตอนที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ เพื่อเชิญชวนให้มีการยื่นขอสัมปทานครั้งที่ 13 เมื่อหลายปีมาแล้ว เพื่อที่จะขอย้ำว่า การเปิดให้ยื่นคำขอสัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 20 กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว นักสำรวจน้ำมันทั้งหลายต้องเตรียมขยับตัวซ้อมลับสมองกันเอาไว้ นักธรณีวิทยาที่ทำงานกับบริษัทสำรวจก็ต้องเตรียมเล็งหาแปลงเหมาะๆ เอาไว้ นักธรณีวิทยาที่ทำงานกับหน่วยราชการก็จะต้องหมั่นศึกษาข้อมูลเพื่อคิดหาพื้นที่ใหม่ๆ แนวความคิดใหม่ๆ เพื่อนำมาเปิดเผย เพื่อจูงใจ และกระตุ้นให้มีการสำรวจค้นหาปิโตรเลียมในราชอาณาจักรของไทยกันต่อไปอย่างเต็มความสามารถเจตนาในการบรรยายวันนี้ ก็เพื่อบอกกล่าว กระตุ้น ปลุกเร้า และย้ำเตือนเพื่อนๆ นักสำรวจค้นหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ว่า เป็นหน้าที่และเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องรับผิดชอบในการคิดค้น ในการชี้นำ ในการนำเสนอ ให้ผู้คนได้มีความเชื่อมั่นในศักยภาพปิโตรเลียมของพื้นที่ที่เราจะออกประกาศเชิญชวนให้มีการยื่นคำขอ การเปิดสัมปทานใหม่ในแต่ละครั้ง ต้องมีเจ้าหน้าที่อย่างน้อยหนึ่งคน ที่จะสามารถพูด อธิบาย ชี้แจงได้ว่าแต่ละแปลงสัมปทานที่เปิดนั้น มีศักยภาพปิโตรเลียมมากน้อย เช่นไร มีข้อมูลหรือควรมีข้อมูลเช่นไรบ้าง สรุปก็คือเจ้าหน้าที่ในส่วนของภาครัฐ ซึ่งหากจะพูดให้ตรงเป้าเลยก็คือ นักธรณีวิทยาของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะต้องมีกื๋นในการนำเสนอแนวความคิด ส่วนนักธรณีวิทยาของบริษัทน้ำมันก็จะต้องมีกื๋นในการนำข้อมูลและข้อคิดเห็นไปต่อยอด เพื่อนำเสนอให้ผู้บริหารของบริษัทพิจารณาว่าฟังขึ้น และใจอ่อนที่จะอนุมัติให้มีการตัดสินใจยื่นคำขอสัมปทานดังกล่าว

สวัสดีครับ

ที่มา: การประชุมวิชาการกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ครั้งที่ 1