สัมภาษณ์, ไดโนเสาร์ — October 13, 2011 at 6:18 PM

เสือใหญ่เล่าเรื่องดวงของคนจะดัง

by

นเรศ สัตยารักษ์ – ผมเริ่มรับราชการที่กรมทรัพยากรธรณีเมื่อปี 2515 ในปีแรกก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานในพื้นที่แนวรอยต่อของเพชรบูรณ์กับขอนแก่น โดยมีลูกพี่ที่ผมยกให้เป็นสุดยอดลูกพี่และปรมาจารย์ ดร. จงพันธ์ จงลักษณมณี เป็นหัวหน้าหน่วย หลังจากนั้นก็ยังทำงานอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาโดยตลอด ผมก็เลยมีโอกาสท่องไปทั่วแคว้นแดนอีสาน ขนาดที่คุยได้ว่าไปนอนมาแล้วทุกอำเภอ  และเนื่องจากหินที่คลุมอยู่ทั่วที่ราบสูงก็ย่อมเป็นกลุ่มหินโคราชแน่นอน ผมก็คุยได้อีกแหละว่าผมไปปีนเทือกเขาทั้งหมดในอีสาน เห็นหินโคราชทุกระวางแผนที่มาแล้วละ

วัตถุประหลาด

ช่วงที่ทำงานประมาณสิบปีแรกนั้น ในการสำรวจหินอยู่ในสนาม ผมเจอวัตถุประหลาดที่ผมไม่ทราบว่าเป็นอะไรหลายแห่ง ซึ่งผมก็บันทึกไว้ในสมุดสนามว่า พบวัตถุสีน้ำตาล อมชมพู อมขาว ขนาดเท่านั้นเท่านี้ อะไรประมาณนั้น พร้อมทั้งสเกตซ์ภาพไว้ จนในปี 2521 กองธรณีวิทยาก็ได้ยกขบวนไปเยี่ยมประตูตีหมา ภูเวียง ขอนแก่น ที่ที่เราสำรวจศักยภาพแร่ยูเรเนียม และพี่สุธรรม แย้มนิยม นักธรณีวิทยา กองเศษฐธรณี ได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ท่อนหนึ่ง ซึ่งต่อมาผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสได้ระบุว่าเป็น กระดูกไดโนเสาร์ คณะของเราไปแวะที่ประตูตีหมาและยังมีการชี้ชวนให้เห็นให้ทราบกันว่า ยังมีเศษกระดูกอีกมากมายกระจัดกระจายอยู่บนพื้นดิน วินาทีที่ผมได้เห็นกระดูกไดโนเสาร์ผมก็ร้องเสียงดังสนั่นหวั่นไหวในใจว่า “พระเจ้าช่วยกล้วยทอด นี่มันวัตถุประหลาดของผมนี่ (โว้ย)” และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผมตามไปเก็บเศษกระดูกในแต่ละที่ที่จดบันทึกไว้แล้ว และเมื่อคณะนักล่ากระดูกไดโนเสาร์ชาวฝรั่งเศสเริ่มโครงการในประเทศไทย พี่อิ๊ด รุจา อิงคะวัต ผู้รับผิดชอบฝ่ายไทยจึงชักชวนผมให้เข้าร่วมขบวนด้วย ผมก็เลยได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมบุกเบิกในการสำรวจไดโนเสาร์ในเมืองไทยด้วย

 

ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว

ผมลุยอยู่กับทีมสำรวจได้แค่ปีเดียว (เวลาทำงานจริงๆ ก็ประมาณสองเดือน) จากนั้นก็ย้ายมาอยู่กองเชื้อเพลิงธรรมชาติ และคุณวราวุธ สุธีธร คือผู้ที่มาสานงานต่อ จนโด่งดังกลายเป็นลุงหมู เซียนไดโนเสาร์ของประเทศไทย

ประสบการณ์ที่ได้มาจากการร่วมทีม ทำให้ผมซึ่งแม้จะทำหน้าที่สำรวจค้นหาปิโตรเลียม ก็ได้ค้นพบฟันและกรามล่างของไดโนเสาร์ตัวขนาดเล็ก กินพืช เดินสี่เท้า มีปากคล้ายนกแก้ว ซึ่งภายหลังได้มีผู้ศึกษาและค้นพบว่าเป็นวงศ์ซิตะโกซอรัส และเป็นชนิดใหม่ของโลก จึงตั้งชื่อชนิดว่า สัตยารักษ์กี้ ชื่อเต็มว่า ซิตะโกซอรัส สัตยารักษ์กี้ แปลว่า ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว ของนายสัตยารักษ์ (Psittacosaurus sattayaraki) (โปรดทราบว่า กติกาสากลของนักบรรพชีวินทั่วโลกกำหนดไว้ว่า ชื่อของฟอสซิลนั้นต้องพิมพ์เป็นตัวเอียง)

 

ออกสื่อญี่ปุ่น

ข่าวนี้กระจายไปทั่ว มีการจัดพิมพ์แสตมป์รูปไดโนเสาร์ที่ค้นพบในประเทศไทย แล้ววันหนึ่งในปี 2540 ผมก็ไดรับโทรศัพท์จากผู้หญิงคนหนึ่ง เธอบอกว่าเป็นตัวแทนของสถานีโทรทัศน์ เอ็นเอชเค ของญี่ปุ่น บอกว่าจะขอสัมภาษณ์เรื่องเกี่ยวกับ สัตยารักษ์กี้ เพราะชาวญี่ปุ่นนั้นชื่นชอบและให้ความสนใจไดโนเสาร์กันอย่างมาก ผมก็เลยถามแก้เกี้ยวไปว่า คุณจะถามเรื่องอะไร อย่างไงบ้าง เธอก็บอกว่า “ก็เช่น คุณนเรศต้องใช้เวลานานเท่าไหร่

ในการค้นพบ ต้องประสบความลำบากยากเย็นเพียงไหน มีหลักการ วิธีการ และวางแผนการสำรวจอย่างไร เราอยากถ่ายทอดให้ชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนได้เรียนรู้ ค่ะ” ในขณะที่ผมเกิดความปิติโสมนัสอยู่ในใจ แต่ก็เสือกหลุดปากโพล่งออกไปว่า “ผมนั่งอยู่ในรถ วิ่งไปตามถนน พอเห็นหินอยู่ข้างทาง ก็จอดลงไปดู แล้วก็โป๊ะเช๊ะเลย” และน่าจะเป็นเพราะประโยคนี้ ที่หลังจากนั้นผมก็ไม่เคยได้รับการติดต่อทาบทามจาก เอ็นเอชเค อีกเลย พรรคพวกหลายคนที่ทราบเรื่องต่างก็สวดผมยับ บ่นกันว่ามึง(พี่)น่าจะแต่งนิยายให้มันสุดโหดเอาแบบน้องๆ ของเรื่องสมบัติพระศุลี หรือไม่ก็ เพชรพระอุมา จะได้ดังระเบิดเถิดเทิงไปเลย ช่วยไม่ได้ครับ นี่มันเรื่องดวงของคนจะดัง ไม่ใช่ดวงของคนดังครับผม ..gneiss