ศัพท์ธรณีวิทยา — June 13, 2012 at 2:27 AM

ศัพท์ธรณีวิทยาปิโตรเลียม อักษร S – W

by

Sapropel : เลนอินทรีย์ คือเลนในน้ำจืดตามพื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ และในเขตพื้นท้องทะเลตื้น ๆ ซึ่งมีสารอินทรีย์จำนวนมากตกทับถมอยู่ เชื่อกันว่าการสลายตัวและการเน่าเปื่อยของสารอินทรีย์เหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดปิโตรเลียม

Secondary Recovery : การผลิตขั้นทุติยภูมิ คือการผลิตที่มีการอัดน้ำหรือแก๊สเข้าไปในแหล่งกักเก็บ เพื่อให้น้ำหรือแก๊สนี้ไปแทนที่น้ำมันดิบ ไล่น้ำมันดิบมาเข้าหลุมผลิต น้ำหรือแก๊สที่เข้าไปแทนที่น้ำมันนี้ไม่สามารถแทนที่น้ำมันได้หมด จะมีน้ำมันเหลืออยู่ในแหล่งกักเก็บหลังจากการผลิตขั้นทุติยภูมิได้สิ้นสุดลง ในการผลิตขั้นทุติยภูมินี้เปอร์เซนต์ของน้ำมันดิบที่ผลิตขึ้นมาได้ (เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันดิบที่มีทั้งหมด) สำหรับน้ำมันชนิดหนัก ชนิดหนักปานกลาง และชนิดเบา มีค่าประมาณ 5 – 10% 5 – 15% และ 10 – 25%ตามลำดับ

Seismic Survey : การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ด้วยการวัดคลื่นไหวสะเทือนในชั้นหิน เพื่อศึกษาลักษณะโครงสร้างของชั้นหินใต้พื้นดินและหาโครงสร้างหินที่จะเป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม

Semi-submersible : เป็นแท่นเจาะในทะเลที่ตัวแท่นและส่วนที่พักอาศัยวางตัวอยู่บนทุ่นหรือถังที่สามารถสูบน้ำเข้าออกได้เพื่อให้ตัวแท่นลอยหรือจมตัวลง ใช้เจาะได้ในบริเวณที่น้ำทะเลลึกตั้งแต่ 600 – 1,500 ft เมื่อจะทำการเจาะก็จะทิ้งสมอเพื่อโยงยึดไม่ให้แท่นเคลื่อนที่ การเคลื่อนย้ายจำเป็นต้องอาศัยเรือลากจูงไป

Show : การปรากฏมีอยู่ของน้ำมันหรือแก๊สที่เห็นได้ในเศษหินตัด (cuttings) แท่งหิน (cores) หรือในน้ำโคลนที่ใช้ในการเจาะ (drilling mud)

Shut-in Well : การปิดหลุม คือการทำให้หลุมเจาะอยู่ในสภาพความดันปิด (สภาวะหลุมปิด) เพื่อให้หลุมเจาะปรับสภาพความดันภายในหลุมด้วยตัวของหลุมเจาะเอง

Shut Down : การหยุดปฏิบัติงานในหลุมเจาะชั่วคราว

Solution Gas : แก๊สธรรมชาติที่ละลายปนอยู่ในน้ำมันดิบในแหล่งกักเก็บ เมื่อน้ำมันถูกสูบขึ้นมาบนพื้นผิวและความดันลดลง แก๊สนี้ก็จะแยกตัวออกมาจากน้ำมัน

Sour Gas : แก๊สธรรมชาติที่มีไฮโดรเจนซัลไฟล์ปนอยู่ในปริมาณมากเกินเกณฑ์มาตรฐานการซื้อขาย ซึ่งจะให้มีได้ประมาณ 0.25 g/100 ft3 หรือ 4 ppm sour gas จะมีกลิ่นเหม็นเหมือนไข่เน่าและมีสภาพเป็นกรด ซึ่งเป็นอันตรายต่ออุปกรณ์การเจาะและการผลิต โดยทั่วไปจะใช้สาร alkanolamine เพื่อกำจัดธาตุกำมะถัน (s) ก่อนที่จะนำแก๊สมาใช้หรือก่อนการขนส่ง

Sour Oil : น้ำมันดิบที่มีไฮโดรเจนซัลไฟล์ (H2S) ปนอยู่ ซึ่งปริมาณขั้นต่ำของกำมะถันที่อนุญาตให้มีได้ในน้ำมันจะแตกต่างกันไปแล้วแต่โรงกลั่นและกฎระเบียบของแต่ละประเทศ แต่โดยทั่วไปมากกว่า 1% โดยน้ำหนัก

Source Rock : หินต้นกำเนิดปิโตรเลียม คือ หินชั้นหรือหินตะกอน (sedimentary rock) ที่มีสารอินทรีย์มาก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางธรณีวิทยา ภายใต้ความร้อนและความกดดัน สารอินทรีย์เหล่านี้ก็จะเปลี่ยนแปลงและสลายตัวให้ปิโตรเลียม หินต้นกำเนิดปิโตรเลียมจะต้องมีปริมาณของสารอินทรีย์อย่างน้อย 0.5% และโดยทั่วไปควรจะมากกว่า 1.5% สารอินทรีย์ชนิด Type II จะให้น้ำมันดิบ (crude oil) Type III จะให้แก๊ส ปริมาณของไฮโดรเจนในสารอินทรีย์ควรจะมากกว่า 7% โดยน้ำหนัก สำหรับการเกิดน้ำมัน หินดินดานสีเทาดำหรือดำ และพวก reef limestone ส่วนใหญ่จะเป็นหินต้นกำเนิดปิโตรเลียมที่ดี

Spud a Well : วันที่เริ่มเจาะหลุม

Standard Rig : เป็นแท่นเจาะบนบกแบบเก่าแก่ที่สุด โครงสร้างหอคอย (derrick) จะถูกสร้างคร่อมปากบ่อบริเวณที่จะทำการเจาะ และเมื่อการขุดเจาะแล้วเสร็จก็ถอดแยกหอคอยออกเป็นชิ้นเพื่อนำไปประกอบยังตำแหน่งใหม่

Stimulation : การกระตุ้นการผลิต ในการผลิตปิโตรเลียมอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการไหลของปิโตรเลียมจากแหล่งกักเก็บเข้าหลุมผลิต เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพของแหล่งกักเก็บบริเวณใกล้หลุมผลิต ถ้ามีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นจะมีการใช้วิธีการกระตุ้นการผลิต อาจใช้วิธีการใช้กรด (acidizing) หรือวิธีทำให้หินแตก (fracturing) เพื่อช่วยให้การผลิตได้ผลดียิ่งขึ้น

STOIIP : มาจากคำว่า Stock Tank Oil Initially in Place หมายถึงน้ำมันที่มีอยู่แต่เดิมในแหล่งกักเก็บ

Storage Tank : ถังเก็บน้ำมันดิบที่ได้ผ่านขบวนการแยกน้ำออกแล้ว ถังเก็บน้ำมันแต่ละถังมีความจุประมาณ 330 บาร์เรล ในถังจะมีมาตรตั้งระดับสูงต่ำเอาไว้ ซึ่งจะมีสัญญาณเตือนเมื่อระดับของเหลวในถังสูงหรือต่ำเกินกว่าที่กำหนดไว้

Sweetening : วิธีการที่แยกเอาแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟล์ (H2S) ออกจากแก๊สธรรมชาติหรือน้ำมันที่มันปนอยู่

Sweet Oil หรือ Sweet Gas : น้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติที่ผ่านขบวนการแยกเอาแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟล์ออก

SWOPS : มาจากคำว่า Single Well Oil Production System หรือ Single Well Offshore Production System หมายถึงระบบการผลิตน้ำมันจากหลุมเดี่ยว หรืออาจหมายถึงระบบการผลิตปิโตรเลียมในทะเลจากหลุมเดี่ยว

Synthetic Gas : แก๊สที่ผลิตได้จากน้ำมันและถ่านหินซึ่งมีมีเทน (Methane) อยู่มาก คุณสมบัติและองค์ประกอบทางเคมีคล้ายแก๊สธรรมชาติ แก๊สนี้สามารถส่งไปถึงผู้ใช้ได้แบบแก๊สที่มีค่าความร้อนต่ำหลังจากที่ได้แยกเอาแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกแล้ว

Tcf : มาจาก trillion cubic feet (1012) ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

Temporary Suspension : การปิดหลุมชั่วคราว

Tertiary Recovery : การผลิตขั้นตติยภูมิ เมื่อมีการผลิตขั้นปฐมภูมิและขั้นทุติยภูมิแล้ว เปอร์เซนต์ของน้ำมันดิบที่ผลิตได้ก็ยังไม่สูงมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบชนิดหนักและชนิดปานกลาง ดังนั้นจึงมีน้ำมันดิบเหลือพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการใช้การผลิตขั้นตติยภูมิขึ้น การผลิตขั้นตติยภูมินี้อาจแบ่งเป็น 3 ชนิด คือชนิดที่ใช้กระบวนการความร้อน (thermal process) ชนิดที่ใช้กระบวนการผสมตัว (miscible process) และชนิดที่ใช้กระบวนการทางเคมี (chemical process) โดยชนิดแรกส่วนมากใช้กับแหล่งกักเก็บน้ำมันดิบชนิดหนัก และสองชนิดหลังใช้กับแหล่งกักเก็บน้ำมันดิบชนิดเบาและชนิดปานกลางแต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงและผลการทดลองใช้จริงไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ การใช้การผลิตขั้นตติยภูมิจึงไม่เป็นที่นิยม

Tool Pusher : เป็นตำแหน่งลูกจ้างของบริษัทรับจ้างเหมาเจาะ (drilling contractor) มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มคนงานเจาะและแท่นเจาะ ตำแหน่งนี้บางทีเรียก drilling rig foreman, supervisor หรือ rig superintendent

Trip : การยกก้านเจาะขึ้นและลงจากหลุมเจาะ เช่น เมื่อจะเปลี่ยนหัวเจาะ หรือเพื่อเก็บแท่งหิน เป็นต้น

Trip Gas : แก๊สธรรมชาติที่ไหลเข้ามาในหลุมเจาะในระหว่างที่ดึงก้านเจาะขึ้นจากหลุม การไหลเข้ามาของแก๊สเกิดขึ้นได้ทั้งการดึงก้านเจาะขึ้นและเนื่องมาจากน้ำหนักน้ำโคลนและความดันก้นหลุมที่ลดลง

Ultimate Recovery : ปริมาณทั้งหมดของแก๊สธรรมชาติหรือน้ำมันดิบที่คาดว่าจะผลิตขึ้นมาได้จากหลุมเจาะหรือจากแอ่งภายใต้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและสภาพทางวิศวกรรม ultimate recovery อาจจะเป็นการผลิตขั้นปฐมภูมิอย่างเดียวหรือรวมทั้งการผลิตขั้นทุติยภูมิด้วย เช่น การทำ water flood เมื่อพิจารณาว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน

Unrecoverable Volumes : ปริมาณน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติที่ประมาณได้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งว่าจะเหลืออยู่ในแหล่งกักเก็บหลังจากที่หยุดผลิตไปแล้ว เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้โดยเทคโนโลยีและสภาพเศรษฐกิจที่คาดการณ์ได้ ณ เวลานั้น

Venting : การปล่อยแก๊สสู่บรรยากาศโดยไม่มีการเผา

Viscosity : ความหนืด เป็นหน่วยวัดความต้านทานภายในของการไหลของของเหลวหรือแก๊ส ความหนืดจะลดลงเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น

Water Flood : การอัดน้ำเข้าทางหลุมเจาะ เพื่อให้น้ำเข้าไปในแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม และแทนที่น้ำมันดิบ ไล่น้ำมันดิบมาเข้าหลุมผลิต เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ

Well Completion : เป็นวิธีการที่จะให้น้ำมันและแก๊สธรรมชาติไหลจากแหล่งกักเก็บมาที่ปากหลุมได้ โดยการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับเตรียมหลุมเพื่อการผลิตน้ำมันและแก๊ส หลังจากได้เจาะหลุมและทำการทดสอบหลุมแล้ว

Well Control : การควบคุมหลุมเจาะ คือ การควบคุมความดันภายในหลุมเจาะให้อยู่ในสภาพสมดุลย์

Well Head Platform (WP) : แท่นหลุมผลิต เป็นแท่นที่ใช้ขุดเจาะหลุมผลิต ภายในแท่นจะประกอบด้วยหลุมผลิต 9 ถึง 12 หลุม หรือมากกว่า และมีอุปกรณ์การผลิตเบื้องต้น เช่น อุปกรณ์แยกสถานะเพื่อทดสอบอัตราการผลิต โดยปิโตรเลียมที่ถูกผลิตขึ้นมาจะผ่านอุปกรณ์การผลิตเบื้องต้นที่นี่ ก่อนส่งไปขบวนการผลิตยังแท่นผลิตต่อไป

Well Logging : การหยั่งธรณีหลุมเจาะ ในการเจาะสำรวจปิโตรเลียม เป็นขั้นตอนการเก็บข้อมูลที่สำคัญ เพื่อตรวจวัดคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของชั้นหินและของไหลในชั้นหินในแต่ละช่วงความลึกที่ต้องการ หรือตลอดหลุมเจาะ ข้อมูลที่ได้จะนำมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาชั้นไฮโดรคาร์บอน ลักษณะชั้นหินใต้ดิน ศึกษาและประเมินคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของของไหลในชั้นหิน และเพื่อทราบความลึกที่แน่นอนสำหรับการปฏิบัติงานในหลุมเจาะได้ละเอียดถูกต้อง

Well Platform : เป็นแท่นเจาะหลุมผลิตในทะเล และสามารถที่จะเปลี่ยนเป็นแท่นผลิตได้ (production platform) เมื่อมีการผลิตปิโตรเลียม

Wellhead Pressure : ความดันของของไหลที่ปากหลุมหลังจากที่มีการปิดหลุม (shut-in) ในระยะเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ระดับความดันที่ปากหลุมจะอ่านได้จากเครื่องวัด (gauge) ที่ wellhead

Well Stimulation : การกระตุ้นหลุมผลิตเพื่อเพิ่มการผลิตให้มากขึ้น

Wet Gas : แก๊สธรรมชาติที่มีมีเทนในสัดส่วนที่น้อยลง มีอีเทน (Ethane) โปรเพน (Propane) และบิวเทน (Butane) ในสัดส่วนที่มากขึ้น และมี C5+ ด้วย แก๊สธรรมชาติชนิดนี้เมื่อผลิตขึ้นมาส่วนหนึ่งจะมีสภาพเป็นของเหลว (ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของ C5+)

Wildcat : หลุมแรกเจาะสำรวจหาปิโตรเลียมในพื้นที่ที่ไม่เคยเจาะพบปิโตรเลียมมาก่อน

Workover : การกลับเข้าไปปฏิบัติงานกับหลุมที่ได้เจาะเสร็จสมบูรณ์แล้วหรือหลุมที่มีการผลิตแล้ว เพื่อการบำรุงรักษาหลุม หรือเพื่อซ่อมแซมหลุม หรือเพื่อเพิ่มสมรรถนะของหลุมให้สามารถผลิตได้ดีขึ้น