บทความแนะนำ — January 11, 2009 at 7:21 PM

ความตั้งใจที่ต้องทำสำเร็จในปีใหม่นี้

by
ขึ้นปีใหม่แล้ว ช่างถือเป็นฤกษ์งามยามเหมาะสำหรับกำหนดความตั้งใจที่จะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นวันเกิด วันแรกของการไปโรงเรียน หรือวันอื่นๆ ก็ล้วนเป็นวันดี เพื่อเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ได้ทั้งนั้น หากการเริ่มต้นส่ิงใหม่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ ลองถือซะว่าวันนี้ของเราเป็นเหมือนจุดเชื่อมระหว่างอดีตและอนาคต ซึ่งเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นได้เสมอ เอาล่ะ มาดูกันดีกว่าว่าสิ่งที่นักสำรวจโลกอย่างเราไม่ควรพลาดที่จะทำในปีใหม่นี้มีอะไรบ้าง

 

1. ดูหินให้เยอะขึ้น

อันนี้ง่ายมาก การได้ดูและศึกษาหินเยอะขึ้นทำให้เราพัฒนาศักยภาพนักสำรวจโลกของเราได้มากขึ้น แล้วอย่าลืมให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ เช่น แร่ ฟอสซิล หรือลักษณะที่พบในเนื้อหินนั้นๆ รวมไปถึงลักษณะภูมิประเทศที่เราพบหินโผล่ด้วยนะ เป็นการพิสูจน์คำกล่าวที่ว่า “The best Geologist is the one who has seen the most rocks!” หรือนักธรณีวิทยาที่ดีคือผู้ที่เห็นหินมาแล้วมากมาย

 

2. กำหนดสิ่งที่อยากทำ และสามารถทำได้จริง

ใครๆ ก็ต่างมีความฝันที่จะได้ไปยลโฉมแหล่งโครงกระดูดไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ในทะเลทรายโกบี ฝากรอยเท้าบนทวีปแห่งน้ำแข็งอย่างแอนตาร์กติกา และเฝ้ามองอุกกาบาตตก แต่สักกี่คนเล่าที่จะมีโอกาสทำให้เป็นจริงได้ ดังนั้นหันมาตั้งเป้าหมายที่เราสามารถประสบความสำเร็จได้ ซึ่งหลักๆ แล้วควรเป็นอะไรที่มีเวลาทำมันจริงๆ และช่วยให้เราได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกขั้น เช่น การไปเยี่ยมชมและร่วมฝึกงานกับนักธรณีวิทยาของแหล่งไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว จ.กาฬสินธุ์ เป็นต้น

 

3. ออกท่องเที่ยวภาคสนาม

ข้อนี้ใครๆ ก็สามารถทำได้ แล้วยังช่วยเปิดโลกทรรศน์ของการเป็นนักสำรวจให้กว้างขึ้น เวลาที่เราจะเข้าร่วมงานสัมมนาทางวิชาการต่างๆ ลองสังเกตดู ส่วนมากมักจะมีการออกพื้นที่สำรวจ (field trip) จัดเป็นของแถมก่อน หรือหลังจากเลิกการสัมมนา หรือถ้าหากว่าพักผ่อนอยู่บ้านว่างๆ อาจลองออกศึกษาพื้นที่ในท้องถิ่น พร้อมกับจดบันทึกในแบบของตัวเองดูก็น่าสนุกไม่น้อย หรือหากใครกลัวเบื่อก็ลองชวนก๊วนเพื่อนๆ ที่อยู่ใกล้เคียงออกสำรวจเป็นหมู่คณะ ได้เฮฮาปาร์ตี้กับกลุ่มเพื่อนแถมยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กันอีกด้วย

 

4. รู้จักคุณค่าของทรัพยากรในท้องถิ่น

แหล่งแร่โลหะ ถ้ำหินปูน ชั้นหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ หรือสถามที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ล้วนเป็นทรัพยากรที่เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมต่อท้องถิ่นของเราทั้งสิ้น เราทั้งหลายจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้ให้ลึกซึ้ง ถ้าทรัพยากรทางธรณีวิทยาของเราถูกมองข้ามก็จงทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าเสีย และถ้าทรัพยากรเหล่านี้กำลังถูกคุกคามเราทั้งหลายก็จงป้องกันให้ถึงที่สุด

ข้อมูลเพิ่มเติม แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาในประเทศไทย

 

5. สรรหาอุปกรณ์ออกสนามใหม่ๆ

นี่ก็เป็นเรื่องง่ายอีกข้อหนึ่ง ตั้งแต่ค้อนสำหรับงัดแงะแบบพิเศษจนถึงเครื่องจีพีเอส มักจะมีของใหม่ที่ช่วยให้การออกภาคสนามของเรามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่ยังไงก็อย่าลืมติดเสื้อคลุมและอุปกรณ์สนามแบบดั้งเดิมทั้งหลายไว้ในรถตลอดด้วยล่ะ หรือสำหรับผู้ที่มีอุปกรณ์ต่างๆ ครบมืออยู่แล้ว ก็ควรที่จะทำการตรวจเช็คความเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง

ข้อมูลเพิ่มเติม อุปกรณ์การสำรวจทางธรณีวิทยา

 

6. หาแผนที่ธรณีวิทยาของจังหวัดหรือภูมิภาคที่เราอยู่มาไว้ในครอบครอง

นักธรณีวิทยามักจะพัฒนาหรือแก้ไขแผนที่ฉบับเก่าเสมอเมื่อค้นพบข้อมูลที่นำไปสู่ทฤษฎีและคำอธิบายใหม่ๆ และกรมทรัพยากรธรณีก็มีหน่วยงานที่จัดทำแผนที่ธรณีวิทยาแสดงชั้นหิน แหล่งสะสมตะกอน ชั้นดิน และความเสี่ยงต่อธรณีพิบัติภัยของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นมาใช้ภาษีของเราให้เกิดประโยชน์ที่สุดกันเถอะ ซื้อเก็บไว้เสมือนงานศิลปะก็เข้าท่าไม่น้อย

 

7. แสดงความเห็นในเชิงธรณีวิทยาบ้าง

แม้จะรู้สึกว่าความรู้ทางธรณีวิทยายังอยู่ปลายแถว แต่เราก็ยังนับเป็นผู้รู้เมื่อเทียบกับประชาชนทั่วไป แล้วถ้าหากเรามีความคิดที่ว่า “การพัฒนาประเทศสู่ความเจริญอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรคำนึงถึงสาระทางธรณีวิทยาร่วมด้วย” ก็ขอให้สบายใจได้ว่า เรายังมีงานให้ทำชั่วชีวิต และปีใหม่นี้ก็เป็นเวลาสมควรที่จะเริ่ม ลองเขียนบทความลงหนังสือสักเรื่อง หรืออาจโพสข้อคิดดีๆ ลงเว็บไซต์ส่วนตัวน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี

 

8. ลองอ่านงานวิจัย (journal) ใหม่ๆ

อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับนักเรียน และผู้ที่ภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรง เพราะส่วนใหญ่แล้วงานตีพิมพ์จะเป็นภาษาอังกฤษ และหาอ่านได้ยาก เนื่องจากต้องสมัครสมาชิก สำหรับการเริ่มต้นเราแนะนำให้ลองติดตามวารสารวิทยาศาสตร์ เช่น วาสารอัพเดท (update) ของสสวท.  National Geographic หรือเว็บไซต์ที่มีข่าวสารการค้นพบต่างๆ ซึ่งมีให้ติดตามอย่างมากมาย

ส่วนระดับอาชีพนักธรณีวิทยาทางหนึ่งที่นิยมกันมากคือใช้บริการงานวิจัยออนไลน์ เช่น GSW, GSA หรือ Sciencedirect เป็นต้น ซึ่งเราสามารถเลือกอ่านบทความไหนก็ได้จากรายการทั้งหมด อาจต้องใช้การเข้าถึง (account) ผ่านหน่วยงานที่เป็นสมาชิก อีกทางหนึ่งคือการเข้าร่วมงานประชุมวิชาการที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเจ้าของผลงานด้วย

 

9. รวบรวมอุปกรณ์กู้ชีพสู้ภัยพิบัติ

ทุกๆ ที่ล้วนเสี่ยงกับธรณีพิบัติภัยอย่างน้อย 1 ชนิด เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม ดินทรุด และไฟป่า คิดถึงสิ่งที่คุณคาดว่าจะเผชิญแล้วศึกษาวิธีเอาชีวิตให้รอดได้อย่างน้อยสามวัน โดยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้และไม่มีบ้านอยู่ หลังจากคิดว่าตัวเองเตรียมพร้อมแล้ว ขยายผลไปสู่ระดับเพื่อนบ้าน ที่ทำงาน และระดับเมืองต่อไป

 

10. เผยแพร่ความรู้ทางธรณีวิทยา

ข้อสุดท้ายนี้อาจดูเหมือนจะซ้ำกับบางข้อที่ผ่านมา แต่จริงๆ แล้วเราหมายถึงการพูดหัวข้อทางธรณีวิทยากับคนที่ไม่ใช่นักธรณีวิทยา พูดถึงวิทยาศาสตร์กับคนที่ไม่ใช่นักวิทยาศตร์ ซึ่งหลายคนมักจะสื่อสารสิ่งเหล่านี้ในรูปแบบที่ยากต่อการเข้าใจ บิดเบือนความเป็นจริง หรืออธิบายผิดๆ ถูกๆ สิ่งหนึ่งที่นักสำรวจโลกอย่างเราควรคำนึงเป็นพิเศษ นั่นคือขอให้เราส่งถ้อยคำเกี่ยวกับสิ่งที่นักธรณีวิทยาเป็น สิ่งที่เรารู้สึกจากใจของเรา โดยใช้ภาษาง่ายๆ เมื่อไม่ทราบหรือถ้าไม่แน่ใจก็บอกตามตรง ซึ่งการเผยแพร่ความรู้สามารถทำได้ผ่านทางเว็บต่างๆ เพื่อที่ผู้คนมากขึ้นจะได้รู้จักสิ่งที่พวกเราถูกหล่อหลอมมาให้เป็น และแบบแผนชีวิตที่เรายึดถือ เป็นการส่งความสุขให้กับคนทั่วไป ในอีกรูปแบบหนึ่ง และผลบุญเหล่านั้นก็คงตอบแทนกลับถึงเราในสักวัน

หวังว่าข้อตั้งใจเหล่านี้ คงจะเป็นประโยชน์กับทุกคน เมื่อหากใครได้ตั้งใจไว้แล้วก็ขอจงสำเร็จได้ดังปรารถนา ขอความเป็นนักสำรวจที่ดีจงอยู่กับท่าน!