สำรวจโลก — February 6, 2013 at 7:58 AM

น้ำตกวิกตอเรีย Victoria Falls

by

น้ำตกวิกตอเรีย ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของประเทศแซมเบีย และ ประเทศซิมบับเว น้ำตกวิกตอเรียเกิดจากแม่น้ำซัมเบซีซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนของสองประเทศ ตกลงมาสู่แอ่งลึก น้ำตกมีขนาดกว้างกว่า 1,708 เมตร สูงสุดประมาณ 108 เมตร

น้ำตกวิกตอเรีย หรือโมซิ-โอวา-ทุนยา ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของประเทศแซมเบีย และ ประเทศซิมบับเว Photo credit: AirPano
น้ำตกวิกตอเรีย หรือโมซิ-โอวา-ทุนยา ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของประเทศแซมเบีย และ ประเทศซิมบับเว Photo credit: AirPano

 

ลักษณะทางธรณีวิทยา

หินที่รองรับน้ำตกแห่งนี้เป็นหินภูเขาไฟบะซอลต์อายุ 180 ล้านปี มีการกระจายตัวคลอบคลุมเป็นบริเวณกว้าง และหนาถึง 300 เมตร หลังจากการสะสมตัวของหินบะซอลต์นานหลายล้านปี เมื่อหินเย็นตัวทำให้เกิดรอยแตกมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่วางตัวในทิศทางตะวันออก-ตะวันตก รอยแตกได้ขยายใหญ่และลึกขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการแตกตัวของมหาทวีปกอนด์วานา เมื่อ 110 ล้านปีก่อน ระหว่างนั้นรอยแตกก็ถูกเติมด้วยตะกอนขนาดละเอียดที่ได้จากการกร่อนของพื้นดินที่ยกตัว

การยกตัวของพื้นดินได้เปลี่ยนทิศทางการไหลของแม่น้ำโบราณมาเป็นการไหลจากเหนือลงใต้ แม่น้ำซัมเบซีได้ไหลผ่านรอยแตกของหินบะซอลต์และได้กัดเซาะชั้นหินตะกอนที่เติมรอยแตกออกไป รอยแตกยักษ์ทำให้น้ำตกมีขนาดกว้างและไหลตกลงมาเป็นม่านน้ำขนาดใหญ่ และควบคุมเส้นทางไหลแม่น้ำเป็นรูปซิกแซก สันนิษฐานว่าน้ำตกวิกตอเรียเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 5 ล้านปีก่อน

น้ำตกวิกตอเรีย หรือโมซิ-โอวา-ทุนยา ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของประเทศแซมเบีย และ ประเทศซิมบับเว Photo credit: National Geographic
น้ำตกวิกตอเรีย หรือโมซิ-โอวา-ทุนยา ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของประเทศแซมเบีย และ ประเทศซิมบับเว Photo credit: National Geographic

 

ลำดับเหตุการณ์

200 ล้านปีก่อน บริเวณน้ำตกวิกตอเรียมีสภาพคล้ายทะเลทราย (มีปริมาณฝนน้อยมาก) ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน มีไดโนเสาร์เดินทางผ่านไปมาแถวนี้

180 ล้านปีก่อน เกิดการปะทุของภูเขาไฟ พื้นที่ถูกปกคลุมไปด้วยหินบะซอลต์ ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟ

150 ล้านปีก่อน พื้นที่กลายเป็นเขตร้อนชื้น มีต้นหญ้าปกคลุม

110 ล้านปีก่อน พื้นดินเกิดการแยกตัวระหว่างการแยกตัวของมหาทวีปกอนด์วานา หินบะซอลต์มีการแตก และก่อให้เกิดเป็นแนวแยกขนาดใหญ่

15 ล้านปีก่อน เกิดการยกตัวของพื้นดินทางตอนกลางของประเทศซิมบับเว และเกิดทะเลสาบขนาดใหญ่ทางตะวันตกของน้ำตกวิกตอเรีย

5 ล้านปีก่อน การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกทำให้น้ำในทะเลสาบขนาดใหญ่ไหลออกมาด้านตะวันออกเป็นแม่น้ำและเกิดเป็นน้ำตกวิกตอเรียครั้งแรก

250,000 ถึง 100,000 ปีก่อน เกิดน้ำตกวิกตอเรียในตำแหน่งปัจจุบัน

 

ภาพน้ำตกวิกตอเรีย ถ่ายจากสถานีอวกาศนานาชาติ Image credit: the Image Analysis Laboratory, NASA Johnson Space Center (eol.jsc.nasa.gov)
ภาพน้ำตกวิกตอเรีย ถ่ายจากสถานีอวกาศนานาชาติ Image credit: the Image Analysis Laboratory, NASA Johnson Space Center (eol.jsc.nasa.gov)

 

ภาพ 360 องศา

 

อ้างอิง

Bond G (1975) The Geology and Formation of the Victoria Falls. In: Phillipson D W (Ed).

Clark, John Desmond. (1952) The Victoria Falls : A Handbook to the Victoria Falls, the Batoka Gorge, and part of the Upper Zambesi River Lusaka, Northern Rhodesia : Commission for the Preservation of Natural and Historical Monuments and Relics.

Lamplugh G W. (1908) Geology of the Zambezi Basin around Batoka Gorge Quarterly Journal of the Geological Society 63, pp 162-216

Lamplugh G W. (1908) The gorge and basin of the Zambesi below the Victoria Falls, Rhodesia Geographical Journal, Vol. 31, No. 2 (Feb 1908), pp. 133-152

Molyneux, A. J. C. (1905), The Zambezi River and the Victoria Falls. Proceedings of the Rhodesia Scientific Association 5:25-29

Molyneux, A. J. C. (1905), The Physical History of the Victoria Falls, Geographical Journal. Vol. 25, No. 1 (Jan., 1905), pp. 40-55

Molyneux, A. J. C. (1905), The Victoria Falls of the Zambezi, Bulletin of the American Geographical Society. Vol. 37, No. 4 (1905), pp. 213-216

Newman, M. (1987) Victoria Falls : a visitors guide to Victoria Falls. Victoria Falls Publicity Association. [Reprinted 1990’s]

Phillipson, D. W – Editor (1975) Mosi-oa-Tunya : a handbook to the Victoria Falls region Salisbury : Longman Zimbabwe

http://vicfalls.zimbabwe.co.za/Climate,_Geology,_Flora-travel/explore-victoria-falls-geology.html