แผ่นดินไหวภูเก็ต 16 เมษายน 2555

by
แผ่นดินไหวเกาะสุมาตรา ปี 2555 เปรียบเทียบกับปี 2547

หลังฉลองปีใหม่ไทยหรืองานสงกรานต์ของไทยประจำปี 2555ได้ไม่นาน ได้เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ละติจูด 8.02 องศาเหนือ ลองจิจูด 98.37 องศาตะวันออก ที่ความลึก 10 กิโลเมตร วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.3 เมื่อวันที่ 16 เวลา 16:44 น. ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา

ความสับสน

ทั้งนี้ในช่วงแรกที่มีการรายงานข่าว ได้เกิดความสับสนระหว่างเหตุแผ่นดินไหวขนาด 5.5 ที่เกาะสุมาตรา ที่เกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวภูเก็ตเพียงแค่ 2 นาที ในเวลา 16.46 น. โดยมีจุดศูนย์กลางบริเวณชายฝั่งตะวันตก ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ที่ละติจูด 0.86 องศาเหนือ ลองจิจูด 92.40 องศาตะวันออก ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดเดิมที่เคยเกิดแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกเมื่อวันที่ 11 เมษายน  ทำให้เกิดความเข้าใจกันว่า แผ่นดินไหวภูเก็ต เป็นผลของแรงสั่นสะเทือนที่มาจากเกาะสุมาตรา

ต่อมา มีการยืนยันจากสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า แผ่นดินไหวภูเก็ต ไม่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวเกาะสุมาตรา โดยมีศูนย์กลางที่ อ.ถลาง ประชาชนรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้อย่างชัดเจน และมีเสียงดังจากใต้ดินด้วย ซึ่งนับว่าเป็นแผ่นดินไหวภูเก็ตครั้งแรก ๆ ที่วัดแรงสั่นสะเทือนได้ในระดับสูงกว่าที่เคยเป็นมา และยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาในเวลา 20.30 น. ขนาด 2.7 และเวลา 21.17 น. ขนาด 2.6 ซึ่งทั้งสองครั้งสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้

 

Aftershocks

ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2555 จนถึงวันที่ 20 เมษายน 2555 เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ต จำนวน 22 ครั้ง โดยวันที่ 16 เมษายน เกิดขึ้น 6 ครั้ง ครั้งแรกเกิดที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง วัดขนาดความแรงได้ถึง 4.3 ริกเตอร์ วันที่ 17 เมษายน เกิดแผ่นดินไหวที่ อ.ถลาง 5 ครั้ง วัดความสั่นสะเทือนสูงสุดของวัน ได้ที่ 3.1 วันที่ 18 เมษายน เกิดแผ่นดินไหวที่ อ.ถลาง 7 ครั้ง วัดความสั่นสะเทือนสูงสุดของวัน ได้ที่ 3.2  วันที่ 19 เมษายน เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ อ.ถลาง 3 ครั้ง วัดความสั่นสะเทือนสูงสุดของวัน ได้ที่ 2.2 และวันที่ 20 เมษายนเกิดแผ่นดินไหวที่ อ.ถลาง 1 ครั้ง สามารถตรวจวัดขนาดความแรงการสั่นไหวได้ 3.2

ตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวภูเก็ต 16 เมษายน 2555 (คลิปดูภาพขยายใหญ่)

 

รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

ส่วนสาเหตุของแผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดจากการเคลื่อนตัวส่วนหนึ่งของรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยที่ทอดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี พังงา และทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นครั้งแรกที่เกิดแผ่นดินไหวบนบก ที่ผ่านมาเคยเกิดในทะเลเมื่อนานมาแล้ว หลังจากกรมทรัพากรธรณีส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเสียหาย พบว่ามีบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่บ้านสะปำ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เสียหาย 20-30 หลังและผู้ได้รับบาดเจ็บจากการหนีบ้าง แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้

เกาะภูเก็ตมีสภาพธรณีสัณฐานเป็นหินอัคนีแกรนิต ที่สามารถดูดซับแรงของแผ่นดินไหวได้ดี ประกอบกับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวลึกลงไปใต้ดินกว่า 10 กิโลเมตร จึงทำให้ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นน้อยกว่าสภาพธรณีสัณฐานแบบดินเหนียวหรือดินร่วนที่จะมีส่วนขยายแรงของแผ่นดินไหวให้เพิ่มความรุนแรงขึ้นได้

 

รอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย