ธรณีวิทยาไทยอยู่ตรงไหน?

by

ความรู้ใหม่ๆ ทางธรณีวิทยาได้จากการสำรวจที่ยากขึ้น ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้น และมีการใช้ความคิดมากขึ้น นักธรณีวิทยารุ่นใหม่ที่จะเข้าไปสำรวจทั้งในและต่างประเทศ จะต้องมีความพร้อมทุกด้าน ทั้งความรู้ ร่างกาย และการสื่อสาร บทความนี้จะพูดถึงสถานะภาพปัจจุบันของนักธรณีวิทยาไทยเทียบกับต่างชาติ และความจำเป็นของการศึกษาต่อ เพื่อพัฒนาคุณภาพนักธรณีวิทยาไทย

นักธรณีวิทยาเกิดขึ้นทั่วโลก

การเรียนการสอนทางธรณีวิทยาในประเทศไทย เริ่มขึ้นปีพ.ศ.2501 หลังจากการก่อตั้งภาควิชาธรณีวิทยา ในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันมี 6 มหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับธรณีวิทยา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.มหิดล และม.เกษตรศาสตร์ ตลอดห้าสิบปีที่ผ่านมาสถาบันเหล่านี้ยังคงผลิตนักธรณีวิทยาใหักับประเทศไทยทุกปี บัณฑิตส่วนใหญ่ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน มีจำนวนน้อยมากที่ทำงานนอกทวีปเอเชีย

เราไม่ใช่ประเทศเดียวที่ผลิตนักธรณีวิทยา ภาพด้านล่างแสดงตำแหน่งแหล่งผลิตนักธรณีวิทยาในเมืองใหญ่ทั่วโลก

[box type=”note” style=”rounded”]ในขณะที่เรากำลังเรียนธรณีวิทยาอยู่นี้ ก็มีเพื่อนต่างชาติร่วมรุ่นกำลังเรียนธรณีวิทยาอีกไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน![/box]

เราจะทำอย่างไรให้คุณภาพของนักธรณีวิทยาจากเมืองไทยโดดเด่นกว่าชาติอื่นๆ ถ้าเรายังคิดถึงเพื่อนธรณีแค่ 6 มหาวิทยาลัยในเมืองไทยก็ต้องขอให้คิดใหม่ เราต้องคิดถึงระดับโลก เราต้องทำงานได้ทั่วโลก ไม่ใช่แค่เมืองไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน และต้องเป็นนักธรณีผู้นำแถวหน้าให้ได้

แผนที่แสดงตำแหน่งแหล่งผลิตนักธรณีวิทยาในเมืองใหญ่ทั่วโลก
แผนที่แสดงตำแหน่งแหล่งผลิตนักธรณีวิทยาในเมืองใหญ่ทั่วโลก

 

สถานะภาพนักธรณีวิทยาไทยในปัจจุบัน

จากรายงานการประชุมของสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย (GEOSEA, 2555) ระบุว่าจำนวนนักธรณีวิทยาไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ถึง 2553 มีประมาณ 3,000 คน โดยในยุคแรกๆ นักธรณีวิทยาจบใหม่จะทำงานให้กับหน่วยงานรัฐบาล จนกระทั่งเริ่มมีการลงทุนของบริษัทเอกชนในประเทศไทย ทำให้นักธรณีวิทยาไปทำงานกับบริษัทเอกชนมากขึ้น

ประเทศไทยรวมแล้วผลิตบัฒฑิตธรณีวิทยาเฉลี่ยปีละ 300-400 คน หมายความว่าในอีกสิบข้างหน้าก็จะมีนักธรณีรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3,000-4,000 คน ถ้าอัตราการรับสมัครงาน (ในภูมิภาคนี้) คงที่เท่ากับปัจจุบัน ก็อาจจะไม่สามารถรองรับนักธรณีวิทยารุ่นใหม่นี้ได้ทั้งหมด

เมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา สองประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ และมีสมาคมธรณีวิทยาที่เก่าแก่ พบว่า สหราอาณาจักรผลิตนักธรณีวิทยาประมาณ 1,300 คนต่อปี ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีบัณฑิตธรณีวิทยาจบใหม่จำนวนกว่า 3,000 คนต่อปี (AGI, 2013) ซึ่งมากกว่าเมืองไทยถึง 10 เท่า ไม่ได้หมายความว่าคนจบมากจะดี แต่แสดงให้เห็นว่าเรามีคู่แข่งที่อาจจะได้เปรียบเรื่องภาษามากกว่าเราเป็นจำนวนมาก

จำนวนบัณฑิตธรณีวิทยาต่อปีในประเทศไทย เทียบกับสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
จำนวนบัณฑิตธรณีวิทยาต่อปีในประเทศไทย เทียบกับสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

 

จบแล้วไปไหน?

ปัญหาของทั้งสองประเทศที่เปรียบเทียบข้างต้น ก็คืองานที่รองรับบัณฑิต เหมือนเช่นเดียวกับประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันมีการแข่งขันทางสายงานธรณีในประเทศทั้งสองนี้สูงมาก หลายคนต้องหางานในต่างประเทศ และมีแนวโน้มที่จะมาทำงานในทวีปเอเชียมากขึ้น ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเข้าศึกษาต่อเพื่อเพิ่มพูนทักษะและเพิ่มโอกาสในการทำงาน จนมีอัตราผู้ที่จบสูงกว่าป.ตรีสูงมาก นี่เป็นเพียงตัวอย่างจากสองประเทศเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเทศที่ผลิตนักธรณีวิทยาสู่ตลาดโลกจำนวนมาก อาทิ เช่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศษ รัสเซีย อินเดีย เป็นต้น

จากการสำรวจของภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2501-2550) พบว่านักธรณีเกินกว่าครึ่งทำงานในหน่วยงานเอกชน 20% ทำงานในหน่วยงานราชการ 7% ทำงานอาชีพอิสระที่ไม่เกี่ยวข้องกับธรณีวิทยา 6% ทำงานในรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับ 6% ทำงานในสถาานบันการศึกษา เช่น โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ส่วนน้อยที่สุดคือผู้ที่ศึกษาต่อคิดเป็นเพียง 4% เท่านั้น 

กราฟแสดงสภาพการทำงานของบัณฑิตธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2501-2550)
กราฟแสดงสภาพการทำงานของบัณฑิตธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2501-2550)

 

นักธรณีวิทยาอังกฤษ

เปรียบเทียบกับสถิติผู้ที่จบปริญญาตรีธรณีวิทยาของสถาบันแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร พบว่า 43% ทำงานในสายงานอื่น 32% ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น 11% ทำงานสายปิโตรเลียมและเหมืองแร่ 8% ทำงานสิ่งแวดล้อม 5% ทำด้านการสอน และ 1% ทำงานธรณีด้านอื่นๆ

ปัจจุบันในสหราชอาณาจักร มีมากกว่า 24 มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรธรณีวิทยาระดับป.ตรี แต่ละปีมีนักธรณีจบใหม่กว่า 1,300 คน ในจำนวนนี้มี 600 คนที่เรียนต่อป.โทและเอก

ที่น่าสนใจก็คือ แนวโน้มการวางแผนการเรียนของนักศึกษาธรณีวิทยาในสหราชอาณาจักร โดยมากจะเรียนจบสูง แต่อายุยังน้อย เนื่องจากมีหลักสูตรการเรียนในระดับป.ตรีเพียง 3 ปี  และจะเรียนต่อป.โทหรือป.เอกทันทีก่อนที่จะเริ่มสมัครงาน นอกจากจะได้เปรียบเรื่องภาษาแล้ว ก็จะได้เปรียบเรื่องวุฒิการศึกษาด้วย

กราฟแสดงสภาพการทำงานของบัณฑิตธรณีวิทยา Royal Holloway University of London (2012)
กราฟแสดงสภาพการทำงานของบัณฑิตธรณีวิทยา Royal Holloway University of London (2012)

 

มวลมหานักธรณีวิทยาจากสหรัฐอเมริกา

สำหรับสหรัฐอเมริกา แหล่งผลิตนักธรณีวิทยามากที่สุดของโลก จากรายงานของ AGI ปี 2011 พบว่ามีผู้สมัครเข้าเรียนธรณีทั่วสหรัฐอเมริกา ในระดับป.ตรี กว่า 22,162 คน ระดับป.โทและเอกรวม 8,977 คน ขณะที่จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาในปีที่ 2554 คิดเป็น 2,688 คนในระดับป.ตรี 982 คนของป.โท และ 636 ในระดับป.เอก

นอกจากนี้ข้อมูลของ AGI ยังระบุด้วยว่า ปี 2555 มีจำนวนผู้เข้าสมัครเข้าเรียนธรณีเพิ่มขึ้นจากปี 2554 7% ในขณะที่ระดับบัณฑิตศึกษา (ป.โทและป.เอก) เพิ่มขึ้น 15.7% หลังจากที่ลดลงตลอดในช่วงห้าปีหลัง สถิติที่เพิ่มขึ้นนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าน่าจะสัมพันธ์กับราคาสินค้าและน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีความต้องการนักธรณีวิทยามากขึ้น จึงมีผู้สนใจสมัครเรียนมาก อีกสาเหตุที่ทำให้คนเรียนต่อในระดับสูงกว่าป.ตรี ก็คืองานที่ทำอยู่ไม่ถูกใจ ทำให้หลายคนตัดสินใจเรียนต่อในสาขาที่ตนเองชอบ

เมื่อเปรียบเทียบทั้งสามประเทศแล้ว ในภาพสีเหลืองแทนผู้ที่ศึกษาต่อ สีฟ้าแทนผู้ที่จบป.ตรี จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังคงมีผู้ศึกษาต่อในระดับสูงน้อยมากๆ คือ ในหนึ่งร้อยคน เรามีคนเรียนต่อเพียง 4 คนเท่านั้น ในขณะที่สหราชอาณจักรและสหรัฐอเมริกามี 32 และ 60 คนตามลำดับ

เปรียบเทียบสัดส่วนการศึกษาต่อของบัณฑิตธรณีวิทยาจากประเทศไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ในภาพสีเหลืองแทนผู้ที่ศึกษาต่อ สีฟ้าแทนผู้ที่จบป.ตรี�
เปรียบเทียบสัดส่วนการศึกษาต่อของบัณฑิตธรณีวิทยาจากประเทศไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ในภาพสีเหลืองแทนผู้ที่ศึกษาต่อ สีฟ้าแทนผู้ที่จบป.ตรี

 

ความสำคัญของการศึกษาธรณีวิทยาในระดับสูงกว่าป.ตรี

งานวิจัยน่าสนใจ (Bond et al, 2012) จากมหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีน สกอตแลนด์ ได้ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการแปลความหมายข้อมูลของนักธรณีวิทยา ซึ่งเรารู้กันดีว่างานทางธรณีวิทยาส่วนใหญ่เกิดจากการแปลความหมายจากข้อมูล การแปลข้อมูลย่อมมีความไม่แน่นอน และมีผลต่อความเสี่ยงในด้านการลงทุนขององค์กร หรือมีผลต่อให้ข้อมูลแก่ประชาชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการประเมินพิบัติภัย

แม้ว่าการแปลความหมายทางธรณีวิทยาจะไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง แต่การแปลความหมายที่สมเหตุสมผลก็คือคำตอบที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด งานวิจัยชี้นนี้สรุปว่า การเรียนป.โทและเอกนั้นมีส่วนช่วยพัฒนาความคิดเชิงวิเคราะห์ ร่วมกับการตรวจสอบหลักฐานที่ได้รับการไตร่ตรองอย่างมีเหตุและผล ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นสำหรับการแปลความหมายทางธรณีวิทยา ทักษะการคิดวิเคราะห์นี้ คือสิ่งที่ตลาดงานทางธรณีวิทยาต้องการอย่างมาก รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ทางธรณีวิทยาให้กับประเทศ

“Master’s or Ph.D. study is in itself valuable in development of the critical thinking skills required to underpin expert interpretation. This emphasizes the high value to industry of well-qualified individuals in geoscience professions.” Bond et al (2012)

ในงานวิจัยได้ทดลองใช้ภาพคลื่นไหวสะเทือนใต้พื้นดิน หรือที่เรียกว่า seismic profile ซึ่งเกิดจากการส่งคลื่นเสียงลงไปใต้ชั้นดินแล้ววัดระยะเวลาที่คลื่นเสียงสะท้อนกลับขึ้นมา คล้ายกับการทำอัลตราซาวด์เด็กในท้องแม่ เส้นสีแดงๆ แสดงชั้นหินต่างชนิดกัน ภาพนี้เป็นข้อมูลจริงที่ได้จากการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมที่นักธรณีวิทยามีหน้าที่ทำการแปลความหมายโครงสร้างหินให้ได้จากภาพที่เห็น

ภาพคลื่นไหวสะเทือนใต้พื้นดิน ที่ใช้ทดสอบความสามารถในการแปลความหมายของนักธรณีวิทยา (Bond et al, 2012)
ภาพคลื่นไหวสะเทือนใต้พื้นดิน ที่ใช้ทดสอบความสามารถในการแปลความหมายของนักธรณีวิทยา (Bond et al, 2012)

 

นักวิจัยได้นำภาพนี้ไปให้นักธรณีวิทยาจำนวน 445 คนแปลความหมาย ซึ่งประกอบด้วยนักธรณีวุติป.ตรี โท เอก และนักธรณีที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในบริษัทต่างๆ ผลปรากฏว่าในจำนวนผู้ทำแบบทดสอบมีเพียง 21% เท่านั้นที่ตอบถูกว่าเป็นโครงสร้าง inversion

โดยโครงสร้าง inversion ในภาพนี้ เริ่มเกิดขึ้นจากการยืดออกของเปลือกโลกทำให้ได้รอยเลื่อนปกติ (normal fault) ก่อนที่ภายหลังต่อมาเกิดแรงบีบอัดทำให้เกิดรอยเลื่อนเดิมเกิดการเลื่อนย้อนกลับ ทำให้เกิดการโก่งตัวของชุดหิน (ดูภาพอธิบายเพิ่มเติมได้จากลิงค์งานวิจัย)

จากผลการสำรวจและคัดเลือกมา 184 ตัวอย่าง สรุปว่า มีเพียง 35%  เท่านั้นที่อธิบายถูกต้อง ในขณะที่จำนวนมาก 65% ให้คำตอบที่ผิด และอธิบายไม่ได้อย่างสมเหตุสมผล โดยมีคำตอบที่ตอบมากที่สุดเรียงจากมากไปน้อยได้แก่ รอยเลื่อนย้อน โดมเกลือ รอยเลื่อนปกติ และรอยเลื่อนตามแนวระดับ

 

การศึกษาพัฒนากระบวนการคิด

ผลการวิเคราะห์ทางสถิติของคำตอบและพื้นฐานด้านการศึกษาของผู้ทดสอบ พบว่า ปัจจัยที่ทำให้คนแปลความหมายทางธรณีวิทยาได้อย่างถูกต้องนั้น คือระดับการศึกษา และเทคนิควิธีคิด คนที่ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงกว่าป.ตรีจะมีความสามารถในการแปลความหมายดีกว่า ซึ่งจะมีเทคนิควิธีคิดในแง่ของวิวัฒนาการการเกิดแอ่งช่วยในการวิเคราะห์ด้วย ทั้งๆ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามนี้คือผู้ที่ทำงานในสายงานทางธรณีวิทยาโครงสร้างทั้งนั้น ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับภาพโจทย์โดยตรง

กล่าวโดยสรุป เราในฐานะนักธรณีวิทยาที่ผ่านป.ตรี มาแล้ว ก็ไม่ควรจะหยุดเรียนรู้ แม้ว่าบางคนจะไม่ได้มีโอกาสศึกษาต่อ แต่ก็ควรที่จะมีการพัฒนาความรู้ให้กับตัวเองอยู่เสมอ เมื่อจะเข้าสู่ระดับสากลแล้ว การศึกษาต่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ

ขอให้นักธรณีวิทยารุ่นใหม่พิจารณาข้อมูลที่ให้ไว้ข้างต้น และประเมินตนเอง

เพิ่มความรู้ให้ตัวเอง

เพิ่มคุณภาพนักธรณีวิทยาไทย