หินแร่ — August 25, 2007 at 1:55 PM

สังกะสีมาจากไหน?

by

  

กะลาเคลือบสังกะสี มีใครบ้างไหม ที่ไม่รู้จัก “สังกะสี” เชื่อแน่ว่าน้อยคนนักที่ไม่รู้จัก เพราะอย่างน้อย หลังคาสังกะสี ก็เป็นสิ่งที่คุ้นตาและสามารถหาได้โดยทั่วไป แต่เคยนึกสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า เจ้าหลังคาสังกะสีที่เงาวาวตอนซื้อมาใหม่ๆ ทำไมมันถึงได้แปรเปลี่ยนเป็นสีแดงสนิม เมื่อเวลามันล่วงผ่านไป แล้วสังกะสีมันคืออะไร ทำไมมันถึงเปลี่ยนสีได้ และที่สำคัญต้นกำเนิดของมันอยู่ที่ไหน

พี่ต่อและน้องแป๋ว พิธีกรกบน้องใหม่ จึงอาสาออกติดตามหาคำตอบถึงที่มาของเหตุผลดังกล่าว โดยเริ่มจากร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั่วไปซึ่งมักจะมีสังกะสีขาย ทั้งแผ่นเรียบและเป็นลอนลูกฟูกสำหรับมุงหลังคา ซึ่งผู้คนยังนิยมใช้สังกะสีมุงหลังคาบ้านนั้นก็เพราะว่า สังกะสีมีน้ำหนักเบาทำให้ลดต้นทุนด้านโครงสร้างลงนั่นเอง

จากนั้นทั้งสองก็ออกติดตาม ต้นทางของแหล่งผลิตหลังคาสังกะสี เมื่อเฝ้าดูกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ปรากฏว่ามีความรู้ใหม่ที่เข้ามาลบล้างความเชื่อเดิมๆออกไปจนหมดสิ้น เพราะสังกะสีที่เราเห็นเป็นแผ่นๆนั้น แท้จริงแล้วมันคือเหล็กแผ่นที่เคลือบด้วยสังกะสีนั่นเอง เนื่องจากคุณสมบัติของแร่สังกะสีที่เป็นสนิมช้ากว่าแร่เหล็กและแร่เหล็กก็มีความแข็งแรงกว่า ถูกกว่า จึงนำสองอย่างมาใช้งานร่วมกันนั่นเอง ส่วนสังกะสีจริงๆที่นำมาเคลือบนั้น มีรูปร่างเป็นก้อนๆขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ก้อนใหญ่สุดมีน้ำหนักถึง 1 ตัน และก็ได้รับคำตอบว่า สั่งซื้อมาจาก บ. ผาแดงอินดัสทรี ซึ่งมีทั้งเหมืองและโรงถลุงอยู่ที่ จ.ตาก

เหมืองสังกะสี ตั้งอยู่ที่ ต.ผาแดง อ.แม่สอด ติดชายแดนพม่าเลยทีเดียว ลักษณะการทำเหมืองเป็นแบบขั้นบันไดขุดตามสายแร่ลงไปทีละชั้น ซึ่งมีความปลอดภัยกว่าการทำเหมืองแบบขุดอุโมงค์ พี่เขาาเล่าให้ฟังว่า เมื่อสมัยสงครามโลก ทหารญี่ปุ่นได้สำรวจเส้นทางเข้าพม่า และได้มาพบต้นไม้ชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายต้นสับปะรด เจ้าต้นไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นบนแร่สังกะสี จึงเป็นเหมือนตัวนำทางที่สามารถบอกได้ว่าอาจมีแร่สังกะสีในบริเวณนี้ (ก็เลยตั้งชื่อว่าต้นสังกะสี) สมัยต่อมา บ.ญี่ปุ่นได้เข้ามาสำรวจจริงจังก็พบแร่สังกะสีมากมายบริเวณผาแดงแห่งนี้ และในราวปี 2526 บ.ผาแดง อินดัสทรี ซึ่งเป็นของคนไทยก็ได้เข้ามาทำเหมืองอย่างจริงจัง ผลิตแร่สังกะสีและสามารถถลุงแร่ได้เป็นแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกว่าจะได้แร่ออกมาจากใต้ดินนั้น ก็ต้องทำการระเบิดหน้าดิน เพื่อขุดไปกองไว้อีกด้านหนึ่งของภูเขา จนตอนนี้สถานที่ทิ้งดินได้กลายเป็นภูเขาลูกใหม่อีกลูกหนึ่ง

ส่วนเนื้อแร่นั้นก็ขนส่งด้วยรถบรรทุกแร่ขนาดยักษ์ไปส่งยังโรงย่อยแร่ เพื่อให้มีขนาดเล็กลง หลังจากนั้นก็ขนส่งไปถลุงที่โรงถลุง ใน อ.เมือง ที่โรงถลุงมีลานกองแร่ที่ใหญ่โตมโหฬาร สามารถเก็บวัตถุดิบได้เป็นแสนตันเลยทีเดียว และมีแร่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศด้วย เช่นลาว พม่า และออสเตรเลียสินแร่จากที่ต่างๆจะถูกปรุงผสมตามสัดส่วนที่วิศวกรกำหนด ก่อนจะถูกส่งเข้าเครื่องบดขนาดยักษ์ เพื่อให้ละเอียดจนกลายเป็นผงแป้ง ผงแร่เหล่านี้จะส่งไปกวนในบ่อเพื่อให้ทำปฎิกิริยากับกรดซัลฟูริก หรือกรดกำมะถัน แร่สังกะสีที่ปะปนมากับมลทินหรือเศษดินทรายภูเขา จะค่อยๆกลายร่างเป็นสารละลายของเหลว และเมื่อผ่านเครื่องกรองเอามลทินออกหมด แล้ว น้ำแร่สังกะสีจะผ่านการกรองอีกหลายขั้นตอน และตกตะกอนจนใสปิ๊ง กลายเป็นสารละลายสังกะสีบริสุทธิ์ น้ำแร่เหล่านี้ จะถูกส่งเข้าห้องเซล เพื่อแยกสังกะสีออกมาด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นวิธีการที่น้องๆหลายคนเคยทดลองในห้องทดลองของโรงเรียน สังกะสีที่อยู่ในสารละลายจะวิ่งไปเกาะแผ่นอลูมีเนียมที่แช่ไว้ในบ่อเซลมากกว่า 7,000 แผ่น เมื่อยกแผ่นเซลขึ้นมาก็นำเข้าเครื่องรูดเพื่อแกะเอาเนื้อสังกะสีที่เกาะอยู่ออกมา นำเข้าเตาหลอม ออกมาเป็นก้อนสังกะสีสีเงินยวง 99.995 %

แร่เหล่านี้ก็ส่งให้คนไทยใช้ทั่วประเทศ และยังส่งออกได้ด้วย และที่สำคัญแร่สังกะสีเหล่านี้ ส่งไปทำเป็นยารักษาโรค เป็นเครื่องสำอาง และเป็นอาหารเสริมได้ด้วย ซึ่งเมื่อได้ลองสังเกตที่ฉลากเครื่องสำอางเช่นยาสระผม หรือครีมกันแดดทั้งหลาย เราก็พบเจ้าสังกะสีเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอยู่เต็มไปหมด ติดตามเรื่องราวที่น่าแปลกใจของสังกะสี ในกบนอกกะลาตอน กะลาเคลือบสังกะสี วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 20.30น. ทางโมเดิร์นไนนืทีวี


ชมรายการย้อนหลัง

รายการ: กบนอกกะลา
ตอน: กะลาเคลือบสังกะสี
ออกอากาศ: 24 สิงหาคม 2550
เลือกความเร็วในการรับชม
56 K  |  256 K  |

ขอขอบคุณ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
http://www.tvburabha.com