หินแร่ — June 16, 2009 at 10:05 AM

การเกิดปิโตรเลียม

by
ปิโตรเลียม (petroleum จากภาษากรีก petra – หิน และ elaion – น้ำมัน หรือภาษาละติน oleum – น้ำมัน ) หรือที่เราเรียกกันว่า น้ำมัน เป็นทรัพยากรธรรรมชาติที่สามารถพบได้ในชั้นหินในบางพื้นที่บนเปลือกโลก หรือใต้พื้นดิน ปิโตรเลียมประกอบไปด้วยสารประกอบโครงสร้างซับซ้อนของไฮโดรคาร์บอน ซึ่งอาจมีความข้นหนืดและดำเหมือนน้ำมันดิน หรือบางครั้งอาจเหลวเหมือนน้ำก็ได้ ปิโตรเลียมให้พลังงานสูง สามารถเปลี่ยนรูปมันเป็นเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ เช่น น้ำมันเครื่องยนต์ และแก๊ซโซลีน ผลผลิตทั้งสองนั้นเป็นแหล่งพลังงานพื้นฐานของโลกในขณะนี้ นอกจากนี้พลาสติกและหมึกเกือบทั้งหมดก็ทำมาจากปิโตรเลียมด้วยเช่นกัน มนุษย์เรารู้จักการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมานานแล้ว ในอดีตเราไม่ต้องขุดหาน้ำมันแต่คอยเก็บเอาส่วนที่ซึมขึ้นสู่หนองบึงแล้วลอยอยู่บนน้ำแทน

เชื้อเพลิงจากฟอสซิล

นานมาแล้วก่อนยุคไดโนเสาร์ พื้นที่เกือบทั้งโลกถูกปกคลุมด้วยมหาสมุทรซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์ทะเลและพืชเล็กๆ มากมาย เมื่อพวกมันตายและจมลงสู่ก้นมหาสมุทรซากเหล่านี้จะถูกทับถมด้วยทรายและตะกอนอื่นๆ กลายเป็นหินตะกอน หลายล้านปีผ่านไปน้ำหนักกดทับของหินด้านบนและความร้อนจากโลกจะเปลี่ยนมันให้กลายเป็นปิโตรเลียม เราจึงเรียกปิโตรเลียมว่า เชื้อเพลิงฟอสซิล พลังงานในปิโตรเลียมก็มาจากพืชและสัตว์ซึ่งได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์มาอีกต่อหนึ่งนั่นเองปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถทดแทนได้

ปิโตรเลียมที่เราใช้กันทุกวันนี้ใช้เวลาก่อตัวหลายล้านปี เราจึงไม่สามารถสร้างเพิ่มในเวลาอันสั้นได้ นี่คือเหตุผลที่เราจัดปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรที่ทดแทนไม่ได้ ประเทศไทยไม่สามารถผลิตน้ำมันเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศได้จึงต้องนำเข้าจากประเทศอื่นๆ

 

การเกิดปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ

   
1. พืชขนาดเล็กและสัตว์ทะเลตายแล้วจมลงก้นมหาสมุทร เมื่อเวลาผ่านไปถูกทับถมด้วยชั้นของตะกอนและหิน 2. หลายล้านปีต่อมาซากเหล่านี้ถูกฝังลึกลงเรื่อยๆ ถูกความร้อนและความกดดันสูงจนเปลี่ยนเป็นน้ำมันและก๊าซในที่สุด 3. ปัจจุบันเราเจาะผ่านชั้นหินตะกอนลงไปสู่ชั้นหินที่กักเก็บน้ำมันและก๊าซเหล่านี้เอาไว้ เพื่อสูบขึ้นมาใช้

 

การเจาะบ่อน้ำมัน ปิโตรเลียมถูกผังอยู่ในกระเปาะในหินใต้ดินเราจึงต้องเจาะบ่อน้ำมันลงไปในหินเพื่อดูดเอาน้ำมันขึ้นมา ซึ่งบางแหล่งอาจลึกมากกว่าสองถึงสามกิโลเมตร ในประเทศไทยมีแหล่งผลิตน้ำมันทั้งบนบกและกลางมหาสมุทร หลังจากที่สูบน้ำมันขึ้นมาแล้วมันจะถูกส่งต่อไปยังโรงกลั่นเพื่อแยกประเภทของน้ำมันสำหรับการเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงโดยเกือบทั้งหมดมักทำเป็นเบนซิน น้ำมันจะถูกขนส่งไปตามที่ต่างๆ ด้วยท่อส่ง เรือและรถบรรทุก

 

เราใช้ปิโตรเลียมทุกวัน

ลองคิดดูว่าหากไม่มีปิโตรเลียมแล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง ทั้งประเทศต้องหยุดการเคลื่อนไหวเพราะรถยนต์ รถบรรทุกและเครื่องบินเกือบทั้งหมดต่างก็ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันทั้งนั้น

ภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำมันในการผลิตพลาสติก สี ยา และสบู่ และแม้แต่การผลิตกระแสไฟฟ้าก็ยังต้องใช้น้ำมัน ด้งนั้นปิโตรเลียมจึงถือว่าเป็นแหล่งพลังงานที่เราใช้มากที่สุดปิโตรเลียมก่อให้เกิดมลพิษได้

แม้ว่าปิโตรเลียมจะเป็นพลังงานสำคัญแต่มันก็ก่อให้เกิดมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม มลพิษในอากาศจากการเผาไหม้ของน้ำมันรถเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศ บริษัทน้ำมันจึงพยายามที่จะผลิตเบนซินและเชื้อเพลิงอื่นที่สะอาดขึ้นทุกๆปี นอกจากอากาศแล้วน้ำมันยังก่อให้เกิดมลพิษแก่ดิน น้ำหรือแม้แต่สัตว์ในพื้นที่ที่น้ำมันมีการรั่วไหล บริษัทผู้ผลิตจึงต้องเจาะและขนส่งน้ำมันอย่างระมัดระวังที่สุด

ข้อมูลเพิ่มเติม ปิโตรเลียมกับเรื่องเล็กน้อยที่ต้องเข้าใจ

เปิดโลก ปิโตรเลียม โดยรายการกบนอกกะลา

รู้หรือไม่ ? กว่าคนไทยจะได้น้ำมันมาขับเคลื่อนให้รถวิ่งฉิวได้อย่างสะดวกสบาย และมีก๊าซหุงต้มมาทอดไข่ได้สักฟองนั้น ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนผลิต และมีเส้นทางที่มาอย่างไร? ที่สำคัญใครเป็นคนกำหนดราคา ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนขึ้นลงตลอดเวลา ร่วมติดตามความรู้ในโลกของปิโตรเลียมที่ขับเคลื่อนความเจริญของโลกใบนี้ในกบนอกกะลา

กบนอกกะลาเดินทางสู่การเรียนรู้ความหมายของปิโตรเลียม โดยเริ่มต้นที่ บ. ปตท.จำกัด(มหาชน) กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมครบวงจรที่ช่วยให้เราได้รู้จักเส้นทางของปิโตรเลียมได้มากขึ้น โดยกบก้องจะอาสาปฏิบัติภารกิจติดตามเส้นทางของน้ำมัน และกบด้าแกะรอยเส้นทางของก๊าซธรรมชาติ กบก้องเริ่มต้นภารกิจที่ ฝ่ายการค้าน้ำมันดิบ จนได้คำตอบว่าน้ำมันดิบที่ใช้กลั่นในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางมากถึง 80% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเงินไทยที่ต้องเสียให้กับต่าง ประเทศมากถึง 5-6 หมื่นล้านบาทต่อเดือน

จากนั้นติดตามกระบวนการขั้นตอนสั่งซื้อน้ำมันดิบ จนกระทั่งฝ่าคลื่นลมออกไปยังทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล เพื่อติดตามขั้นตอนการรับน้ำมันดิบจากเรือใหญ่ที่นำเข้ามาจากแดนไกลเข้าสู่ทุ่นรับน้ำมันดิบ เพื่อส่งต่อเข้าสู่โรงกลั่น และที่โรงกลั่นนี่เองที่ทำให้เราได้เห็นการเพิ่มมูลค่าของน้ำมันดิบจากน้ำมันดิบสีดำข้น หลังจากการกลั่นก็กลายเป็นน้ำมันใสและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปหลากหลายชนิด ที่เราคุ้นเคยกันดีก็เช่นพวกน้ำมันเบนซิน ดีเซล และที่โรงกลั่นนี้เองที่ทำให้เราได้เข้าใจโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่น และเชื่อมโยงไปสู่การอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์

ดังนั้น ภารกิจของกบก้องจึงต้องเดินทางต่อไปที่ตลาดน้ำมันสิงคโปร์ ทำให้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าทำไมประเทศไทยจึงต้องอ้างอิงราคาที่ตลาดสิงคโปร์ด้วย ก่อนจะติดตามน้ำมันเข้ามาสู่คลังน้ำมัน ปั๊มน้ำมัน จนในที่สุดน้ำมันก็มาสู่มือผู้ใช้รถใช้ถนน และได้คลี่คลายความสงสัยถึงราคาหน้าปั๊มที่ทำให้เราต้องคอยดูกระเป๋าสตางค์ทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงป้ายราคาน้ำมัน

ส่วนกบด้าเริ่มต้นปฏิบัติการที่โรงแยกก๊าซ จ.ระยอง จนได้คำตอบเกี่ยวกับที่มาของก๊าซธรรมชาติ ว่ามาจากอ่าวไทยในบ้านเรานี่เอง แล้วมารวมตัวกันขึ้นบกที่ จ.ระยอง ก่อนเข้าสู่โรงแยกก๊าซ เพราะฉะนั้นเราจึงตามติดเส้นทางก๊าซธรรมชาติไปยังโรงแยกก๊าซ เพื่อดูว่าทำไมต้องมีการแยกก๊าซ และเค้าแยกก๊าซกันอย่างไร เมื่อผ่านการแยกก๊าซแล้วจะได้ก๊าซประเภทใดบ้าง ก่อนจะไปดูการบรรจุก๊าซหุงต้มลงถังที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่ในครัว ซึ่งนอกจากได้เห็นขั้นตอนการบรรจุก๊าซ ยังได้เห็นกระบวนการตรวจสอบคุณภาพถังก๊าซหุงต้มที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้อย่างเราอีกด้วย เรียกได้ว่าเรียนรู้เรื่องก๊าซอย่างครบวงจร

ร่วมติดตามภารกิจติดตามเส้นทางปิโตรเลียม พลังงานที่ขับเคลื่อนมนุษยชาติได้ในกบนอกกะลา ตอน “เปิดโลกปิโตรเลียม 1-2 ” ได้ผ่านการชมรายการย้อนหลัง จากลิงค์ด้านล่างนี้

รายการ: กบนอกกะลา
ตอน: เปิดโลก ปิโตรเลียม 1
ออกอากาศ: 17 เมษายน 2552
คลิกเพื่อเข้าชม ตอน 1 

รายการ: กบนอกกะลา
ตอน: เปิดโลก ปิโตรเลียม 2
ออกอากาศ: 24 เมษายน 2552
คลิกเพื่อเข้าชม ตอน 2

ขอขอบคุณ บริษัท ทีวีบุรพา จำกัด