เจมส์ ฮัตตัน คุณพ่อทุกสถาบันธรณี

by

หลังจากที่ได้ทราบประวัติของชาร์ลส์ ไลแอล บิดาแห่งธรณีวิทยากันไปแล้วในบันทึกก่อนหน้านี้ วันนี้เราจะมาพูดถึงบิดาธรณีอีกท่านนึง ไม่ต้องงงนะครับว่าทำไมธรณีเรามีบิดาถึงสองคน นั่นก็เพราะองค์ความรู้ทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นในยุคแรกๆ นั้นยังคงมีข้อขัดแย้งอยู่มาก ทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดอยู่เสมอ ซึ่งมักเป็นการต่อยอดจากแนวคิดเดิม เนื่องจากหลักฐานที่พบมากขึ้นนั้นเอง ก่อนที่จะกลายเป็นหลักการที่เราใช้เรียนกันอยู่ทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามทั่วโลกได้ยกย่องเกียรติให้กับคนที่คิดก่อนและคนที่ต่อยอดด้วย เราจึงมีบิดาธรณีมากกว่าหนึ่งคน สำหรับคนสำคัญที่จะพูดถึงในวันนี้ก็คือ เจมส์ ฮัตตัน ที่ทุกคนคงจะคุ้นชื่อกันดี

ทำไมเจมส์ ฮัตตันจึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งธรณีวิทยาสมัยใหม่? 

เจมส์ ฮัตตัน คือนักสำรวจชาวสกอตแลนด์ ผู้ที่ได้รับขนานนามว่าบิดาแห่งธรณีวิทยาสมัยใหม่ จากการเสนอแนวคิดเอกรูปนิยม (Uniformitarianism) เมื่อปีพ.ศ.2328 โดยมีหลักการว่าสภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นเป็นสิ่งที่สามารถสังเกตได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเป็นที่มาของประโยคดังที่เราคุ้นกันดีว่า

The present is the key to the past. ปัจจุบันเป็นกุญแจไขไปสู่อดีต

อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานว่าประโยคนี้มาจากเจมส์ ฮัตตันหรือไม่ เพราะแนวคิดของเขาเป็นที่รู้จักหลังจากการเสียชีวิตในปีพ.ศ.2340

ขณะมีชีวิต เจมส์ ฮัตตัน ตีพิมพ์ผลงานหนังสือออกมาสองเล่ม ใข้ชื่อว่า Theory of the Earth (พ.ศ.2338) โดยเขาเสียชีวิตก่อนที่จะได้ออกหนังสือเล่มที่สาม ต้นฉบับของเล่มที่สามได้ส่งต่อให้กับสมาคมธรณีวิทยาแห่งลอนดอน และถูกตีพิมพ์ในอีก 104 ปีต่อมาในชื่อเดียวกัน

ก่อนหน้านั้น ผลงานของเจมส์ ฮัตตัน ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก จนกระทั่งมีการนำแนวคิดเอกรูปนิยมไปต่อยอดโดยชาร์ลส์ ไลแอล และถูกอ้างถึงในหนังสือที่ชื่อว่า Principles of Geology (พ.ศ.2373)

ลองนึกภาพให้ดีนะครับว่าในสมัยนั้นคนหมู่มากยังเชื่อเกี่ยวกับทฤษฏีมหาวิบัติ (Catastrophism) อยู่เลย ที่คิดกันว่าในอดีตนั้นมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและฉับพลันทันที ถือว่าฮัตตันกล้าที่จะเปิดตัวแรงแหวกแนวคิดเดิมมากทีเดียว แน่นอนว่าเขาคงต้องโดนแรงกดดันจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ นานามากมาย แม้ว่าแนวคิดของฮัตตันนั้นจะมีหลักฐานสนับสนุนที่ถูกบันทึกในชั้นหิน และสามารถนำมาเรียงต่อเป็นเรื่องราวถึงกระบวนการเกิดชั้นหินได้ แต่ก็มีบางอย่างที่เขายังไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน เนื่องจากหลักฐานส่วนใหญ่เป็นเพียงรอยชั้นไม่ต่อเนื่องเท่านั้น ทฤษฏีมหาวิบัติจึงยังคงอยู่ และยังคงสามารถใช้อธิบายถึงการสูญพันธ์ุของไดโนเสาร์ได้ สำหรับคนที่เชื่อเรื่องโลกแตกในปี 2012 ก็คงจะจัดอยู่ในกลุ่มแนวคิดมหาวิบัตินี้ด้วย ซึ่งก็ไม่มีถูกผิดแต่อย่างใด

 

อนุสรณ์รำลึกเจมส์ ฮัตตันในสก๊อตแลนด์

อนุสรณ์สถานรำลึกถึง เจมส์ ฮัตตัน ในประเทศสกอตแลนด์ (เครดิตภาพ: Paul Downey)

แนวคิดเอกรูปนิยมของฮัตตันมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นในอีก 45 ปีต่อมา เมื่อชาร์ลส์ ไลแอล ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยารุ่นหลัง ได้เพิ่มเรื่องของเวลาทางธรณีกาลเข้าไปเสริมแนวคิดด้วย ทำให้การอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นมีความสมบูรณ์มากขึ้น จนเป็นที่ยอมรับกันจนถึงปัจจุบัน หากมองย้อนไปแล้วก็จะเห็นได้ว่าฮัตตันเป็นคนวางรากฐานของแนวคิดเอกรูปนิยม ส่วนไลแอลนำแนวคิดนั้นมาพัฒนาต่อให้มีหลักการมากยิ่งขึ้น ผลจากแนวคิดของท่านทั้งสองนั้นก่อให้เกิดองค์ความรู้ทางธรณีวิทยาที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน ที่ต้องมีคำว่าสมัยใหม่ต่อท้ายด้วยก็เพราะคำว่าธรณีวิทยานั้นมีใช้กันก่อนหน้านั้นแล้ว แต่มีหลักการผิดไปจากปัจจุบันนั้นเอง ฮัตตันกับไลแอลจึงเป็นพ่อทุกสถาบันธรณีสมัยใหม่ แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะมีพ่อธรณีคนใหม่ต่อไปอีกก็ได้.. เมื่อโลกไม่หยุดนิ่ง ธรณีวิทยาไม่หยุดนิ่งด้วยเช่นกัน

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

Windley 1993. Uniformitarianism today: plate tectonics is the key to the pastJournal of the Geological Society, London, Vol. 150, 1993, pp. 7-19