รวมเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่โลกจดจำ

by

ทุกปีมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นหลายพันครั้งกระจายทั่วโลกตามแนวรอยเลื่อนที่ยังคงมีพลัง บางเหตุการณ์ได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล การสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงมักเป็นผลจากการขยับตัวของรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลก โดยเฉพาะพื้นที่รอบวงแหวนแห่งไฟ แผ่นดินไหวจะปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของคลื่นไหวสะเทือนสู่พื้นดินอย่างรุนแรง ตัวอย่างเหตุการณ์ต่อไปนี้ คือสุดยอดแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายที่สุดที่เคยบันทึกได้ในประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

[box type=”note” style=”rounded”]ในบางครั้งแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายมาก แต่เป็นเพราะผลที่เกิดขึ้นตามมา เช่น ไฟไหม้ คลื่นสึนามิ ดินโคลนถล่ม ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเสียดายอย่างมหาศาลได้เช่นกัน[/box]

 

ภาพวาดแผ่นดินไหวนิวแมดริด จาก USGS

แผ่นดินไหวนิวแมดริด (1811 New Madrid Earthquake)

16 ธันวาคม พ.ศ.2354 (ค.ศ.1811)

รอยเลื่อนนิวแมดริด (New Madrid fault) อยู่ใกล้กับเขตติดต่อของรัฐมิสซูรี เคนทักกี อาร์คันซอ และเทนเนสซี ได้ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวแมกนิจูดประมาณ 7.7 โดยแรงสั่นสะเทือนทำให้ระฆังของโบสถ์ในบอสตันที่อยู่ห่างออกไปถึง 2,400 กิโลเมตรแกว่งและส่งเสียงดัง นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้สภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน คือพื้นดินถูกยกขึ้นจนแม่น้ำมิสซิสซิปปีไหลย้อนขึ้นทางต้นน้ำ โชคดีที่บริเวณนั้นมีประชากรเบาบางจึงมีคนเสียชีวิตน้อยเพียงรายเดียวและทรัพย์สินเสียหายอีกเล็กน้อย

ข้อมูลเพิ่มเติม http://earthquake.usgs.gov/regional/states/events/1811-1812.php

 

 แผ่นดินไหวซานฟรานซิสโก (1906 San Francisco Earthquake)

แผ่นดินไหวซานฟรานซิสโก ภาพถ่ายโดย Arnold Genthe

18 เมษายน พ.ศ.2449 (ค.ศ.1906)

แผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.9 จากการขยับตัวของรอยเลื่อนซานแอนเดรียส (San Andres fault) ได้ถล่มโครงสร้างอาคารบ้านเรือนในเขตพื้นทีเบย์แอเรีย (Bay Area) ระบบท่อน้ำถูกทำลาย และรางรถไฟฟ้าบิดงอจนกลายเป็นแค่เศษเหล็ก แต่สาเหตุหลักของความเสียหายจำนวน 524 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และผู้คนเสียชีวิตถึง 3,000 รายนั้น เป็นผลมาจากเพลิงไหม้ที่เกิดตามมาและลุกลามไปทั่วเมืองอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการขาดน้ำสำหรับดับไฟ ประชาชนที่อาศัยห่างออกมาถึงรัฐโอเรกอนและทางตะวันตกของรัฐเนวาดายังรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนได้เป็นเวลาเกือบหนึ่งนาที

ข้อมูลเพิ่มเติม http://earthquake.usgs.gov/regional/nca/1906/18april/index.php

 

 แผ่นดินไหวอาชกาบัต (1948 Ashgabat Earthquake)

5 ตุลาคม พ.ศ.2491 (ค.ศ.1948)

แผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.3 เกิดขึ้นที่เมืองอาชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน ทำให้ประชาชนจำนวน 110,000 คน ซึ่งถือเป็นประชากรที่มากกว่าสองในสามในขณะนั้นเสียชีวิต  นอกจากแรงสั่นสะเทือนจะทำให้โครงสร้างเกือบทั้งเมืองกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้ว ยังสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้เอเชียกลางอีกด้วย ในปีพ.ศ.2545 รัฐบาลเติร์กเมนิสถานได้ประกาศระลึกถึงเหตุการณ์ โดยกล่าวไว้อาลัยถึงประธานาธิบดี ซูปามูรัด ไนยาซอฟและครอบครัว ที่ได้สังเวยชีวิตในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนั้น

ข้อมูลเพิ่มเติม http://earthquake.usgs.gov/regional/world/most_destructive.php

 

แผ่นดินไหววาลดิเวีย ประเทศชิลี ภาพจาก NOAA

แผ่นดินไหววาลดิเวีย (1960 Valdivia Earthquake)

22 พฤษภาคม พ.ศ.2503 (ค.ศ.1960)

แผ่นดินไหวที่ประเทศชิลีครั้งนี้มีความรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ถึงแมกนิจูด 9.5  ซึ่งความจริงแล้วมันเป็นชุดของแผ่นดินไหวที่เกิดต่อเนื่องกันหลายชั่งโมง คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นตามมาได้กวาดล้างทุกสิ่งทุกอย่างบนชายฝั่งชิลีก่อนที่จะเคลื่อนตัวข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปบดขยี้ฮาวายต่อ  แผ่นดินถล่ม น้ำท่วมและการระเบิดของภูเขาไฟ Puyehue ในชิลีได้เกิดตามมาอีกหลังจากเกิดแผ่นดินไหวได้เพียง 2 วัน จากรายงานพบว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,700 ราย ทรัพย์สินเสียหายมูลค่า 675 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทั้งในชิลี อะแลสกา ฮาวาย ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์

ข้อมูลเพิ่มเติม http://pubs.usgs.gov/circ/c1187/
http://earthquake.usgs.gov/regional/world/events/1960_05_22.php

 

แผ่นดินไหวอะแลสกา ภาพจาก USGS

แผ่นดินไหวอะแลสกา (1964 Alaska Earthquake)

28 มีนาคม พ.ศ.2507 (ค.ศ.1964)

แผ่นดินไหวกู๊ดฟรายเดย์ (Good Friday Earthquake) นับเป็นการสั่นสะเทือนที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา  แผ่นดินไหวนานกว่า 3 นาทีวัดขนาดแมกนิจูดได้ 9.2 Mw ในพื้นที่ปรินซ์ วิลเลี่ยม ซาวด์ (Prince William Sound) แม้ว่าจะมีการเสียชีวิตเพียง 9 รายจากแผ่นดินไหว แต่คลื่นสึนามิที่สูงร่วม 60 เมตรที่บริเวณปากทางน้ำวาลเดซ (Valdez inlet) ได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 122 ราย และสร้างความเสียหายจำนวน 311 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (หรือเทียบเท่า 2.3 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน)โดยเมืองแองเคอเรจ (Anchorage) เป็นพื้นที่ที่เสียหายมากที่สุด รับชมคลิปสรุปและการอธิบายทางธรณีวิทยาด้านล่างนี้ โดย USGS

ข้อมูลเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/Good_Friday_Earthquake
http://earthquake.usgs.gov/regional/states/events/1964_03_28.php

 

แผ่นดินไหวอันแคช (1970 Ancash Earthquake)

31 พฤษภาคม พ.ศ.2513 (ค.ศ.1970)

แผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.9 เกิดขึ้นในประเทศเปรู บริเวณชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาใต้ ทำให้ทรัพย์สินเสียหายกว่า 500 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และ ชาวเปรูเสียชีวิต 66,000 ราย ซึ่งส่วนมาเป็นผลมาจากตึกถล่ม นักธรณีวิทยากล่าวว่าแผ่นเปลือกโลกอเมริกาใต้ยังคงเคลื่อนที่ไปทางตะวันตกสู่แผ่นมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้นแผ่นดินไหวรุนแรงตามแนวชายฝั่งจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก

อนุสรณ์สถานแผ่นดินไหวถังฉาน ภาพโดย Benjwong

ข้อมูลเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/1970_Ancash_earthquake
http://earthquake.usgs.gov/regional/world/events/1970_05_31.php

 

แผ่นดินไหวถังฉาน (1976 Tangshan Earthquake)

27 กรกฎาคม พ.ศ.2519 (ค.ศ.1976)

แผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.5 นี้เป็นหนึ่งในแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดตามแนวของวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ซึ่งเป็นขอบที่มีการไหวสะเทือนเกิดขึ้นมากที่สุดของมหาสมุทรแปซิฟิก แผ่นดินไหวสร้างความเสียหายให้กับเมืองตังชาน และเมืองทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่มีผู้อยู่อาศัยถึง 1 ล้านคน ทางการจีนแจ้งว่ามียอดผู้เสียชีวิตประมาณ 250,000 ราย แต่บางแหล่งข่าวประเมินว่าตัวเลขน่าจะสูงถึง 655,000 ราย

ข้อมูลเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/1976_Tangshan_earthquake
http://earthquake.usgs.gov/regional/world/events/1976_07_27.php

 

แผ่นดินไหวโลมาพรีตา ภาพโดย H.G. Wilshire (USGS)

แผ่นดินไหวโลมาพรีตา (1989 Loma Prieta Earthquake)

18 ตุลาคม พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989)

แผ่นดินไหวแมกนิจูด 6.9 เกิดขึ้นบริเวณสวนสาธารณะแคนเดิลสติก (Candlestick Park) ในซานฟรานซิสโก ในขณะที่กำลังมีการแข่งขันเบสบอล 1989 World Series ในเกมที่สาม ทำให้ได้ชื่อว่า World Series Quake หรือ Quake of 89 มีผู้เสียชีวิต 63 ราย และทรัพย์สินเสียหายประมาณ 6 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งที่สร้างความเสียหายมากสุดที่เคยเกิดขึ้นในบริเวณเบย์แอเรีย (Bay Area) นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2449 หลังจากแผ่นดินไหวอัล มิคาเอล ผู้รายงานข่าวของ เอบีซี ที่อยู่ในสนามเบสบอลได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอมมี จากการรายงานสดสถานการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนั้น

ข้อมูลเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/Loma_Prieta_earthquake
http://pubs.usgs.gov/dds/dds-29/web_pages/P1550-1553_TOC.pdf

 

แผ่นดินไหวนอร์ทริดจ์ ภาพจาก FEMA News

แผ่นดินไหวนอร์ทริดจ์ (1994 Northridge Earthquake)

17 มกราคม พ.ศ.2537 (ค.ศ.1994)

แผ่นดินไหวแมกนิจูด 6.7 ในนอร์ทริดจ์ (Northridge) รัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 60 ราย และความเสียหายมูลค่าประมาณ 44 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ แรงสั่นสะเทือนทำลายอาคารมากว่า 40,000 หลังในเมืองเศรษฐกิจที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ได้แก่ ลอสแองเจอลิส ออเรนจ์ เว็นทูรา และซาน เบอร์นาดิโน ถือว่าเป็นโชคดีที่แผ่นดินไหวที่รู้สึกได้ไกลถึงรัฐยูทาห์และตอนเหนือของเม็กซิโกนี้เกิดในเวลาเช้ามืด ซึ่งผู้คนยังไม่พลุกพล่านบนท้องถนน ตึกที่ทำงาน และอาคารจอดรถ ที่มีการถล่มเป็นส่วนใหญ่

ข้อมูลเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/Northridge_earthquake

 

แผ่นดินไหวฮันชิน ภาพโดย 松岡明芳

แผ่นดินไหวฮันชิน (1995 Great Hanshin Earthquake)

17 มกราคม พ.ศ.2538 (ค.ศ.1995)

แผ่นดินไหวแมกนิจูด 6.9 ในโกเบ ประเทศญี่ปุ่น หรือเรียกได้ว่า แผ่นดินไหวโกเบ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้คร่าชีวิตผู้คนกว่า 5,000 รายและสร้างความเสียหายมากกว่า 100 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่ามีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากอาคารมากกว่า 200,000 แห่งที่ถล่มและเสียหายนั้นอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าครองชีพสูง นอกจากนี้ช่างเป็นเรื่องบังเอิญอย่างยิ่งที่แผ่นดินไหวในโกเบครั้งนี้ (ชาวญี่ปุ่นรู้จักทั่วไปในชื่อ แผ่นดินไหวฮันชิน) เกิดขึ้นพร้อมกับการครบรอบหนึ่งปีของแผ่นดินไหวในนอร์ทริดจ์พอดี

ข้อมูลเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/Great_Hanshin_earthquake
http://quake.wr.usgs.gov/recent/reports/kobe/

 

แผ่นดินไหวมหาสมุทรอินเดียและสึนามิ ภาพจาก U.S. Navy

แผ่นดินไหวมหาสมุทรอินเดีย (2004 Indian Ocean Earthquake)

26 ธันวาคม พ.ศ.2547 (ค.ศ.2004)

แผ่นดินไหวขนาดใหญ่นี้เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียนอกชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตราวัดความรุนแรงได้ 9.1 และคลื่นสึนามิที่เกิดตามมาก็ได้คร่าชีวิตผู้คนใน 12 ประเทศอย่างน้อย 230,000 ราย (อาจสูงถึง 290,000 ราย) ซึ่งเป็นชาวอินโดนีเซียประมาณ 168,000 คน นักวิทยาศาสตร์อ้างว่าการสั่นสะเทือนครั้งนี้รุนแรงถึงขนาดทำให้การหมุนของโลกเบนออกจากแกนเดิมเกือบหนึ่งนิ้วเลยทีเดียว เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้จะเป็นที่จดจำไปอีกนานเท่านาน เพราะคลื่นสึนามิ ได้นำความวิบัติไปสู่ทุกประเทศรอบมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงประเทศไทยด้วย จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีการตื่นตัวเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิกันอย่างกว้างขวาง และทำให้คนไทยได้รู้จักบทบาทของนักธรณีวิทยามากขึ้น

 

แผ่นดินไหวสุมาตราและการเกิดสึนามิ
แผ่นดินไหวสุมาตราและการเกิดสึนามิ (เครดิต GeoThai.net)

ข้อมูลเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/2004_Indian_Ocean_earthquake
http://earthquake.usgs.gov/eqcenter/eqinthenews/2004/usslav/

 

แผ่นดินไหวแคชเมียร์ (2005 Kashmir Earthquake)

8 ตุลาคม พ.ศ.2548 (ค.ศ.2005)

แผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.6 ในแคชเมียร์ ประเทศปากีสถานสามารถรู้สึกได้เกือบทั่วทั้งปากีสถานและตอนเหนือของอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 80,000 ราย และบาดเจ็บเกือบ 70,000 คน อาคารบ้านเรือนถูกทำลายกว่าพันหลัง ดินถล่ม หินถล่ม และอาคารที่พังเสียหายเป็นสาเหตุให้ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัย และพื้นที่บางแห่งถูกตัดขาดจากการช่วยเหลือหลายวัน

ข้อมูลเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/2005_Kashmir_earthquake
http://earthquake.usgs.gov/eqcenter/eqinthenews/2005/usdyae/

 

แผ่นดินไหวเสฉวน ภาพโดย 人神之间

แผ่นดินไหวเสฉวน (2008 Sichuan Earthquake)

12 พฤษภาคม พ.ศ.2551 (ค.ศ.2008)

ในขณะที่ประเทศจีนกำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ของปีพ.ศ.2551 ได้เกิดแผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.9 ทางตะวันออกของมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ศูนย์กลางอยู่ที่ความลึก 19 กิโลเมตรจากผิวดิน และมีแผ่นดินไหวตามขนาด  5.0-6.0 ตามมาตราริกเตอร์ ตามมาอีกหลายครั้ง สิ่งก่อสร้างพังทลายหลายแห่ง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 69,000 ราย จัดเป็นอันดับที่ 21 ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด  สำหรับประเทศไทยรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนโดยเฉพาะอาคารสูง  สาเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากการขยับตัวแบบย้อนกลับ (Reverse Fault) ของรอยเลื่อน ลองเมนฉาน (Longmenshan) ซึ่งวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ จากการขยับตัวครั้งนี้ส่งผลทำเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นผิวภูมิประเทศสูงกว่า 3 เมตร และเพิ่มความเค้น (stress) ให้กับส่วนปลายทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของรอยเลื่อน ที่ซึ่งอาจจะปลดปล่อยพลังงานได้อีกในอนาคต

ข้อมูลเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/2008_Sichuan_earthquake

 

แผ่นดินไหวเฮติ ภาพโดย Logan Abassi (UNDP Global)

แผ่นดินไหวเฮติ (2010 Haiti Earthquake)

2 มกราคม พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010)

ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2553 ได้เพียงไม่นาน ก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นที่สาธารณรัฐเฮติ ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะฮิสปันโยลา ในทะเลแคริบเบียน ส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกา เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 12 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่น วัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึงแมกนิจูด 7.0 โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 16 กิโลเมตร และลึกลงไปใต้ดินราว 10 กิโลเมตร

แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ส่งผลให้ทำเนียบประธานาธิบดี ที่ทำการกระทรวงต่างๆ ตลอดจนที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ พังถล่ม รวมทั้งอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวนมาก และยังไม่ทราบชะตากรรมของเจ้าหน้าที่ ที่เชื่อว่าติดอยู่ภายใต้ซากอาคารเหล่านี้ โดยคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน และอาจจะมีผู้เสียชีวิตมากถึงแสนคน

ทั้งนี้แผ่นดินไหวครั้งนี้ ถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 200 กว่าปีของเฮติ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2313 และยังเกิดแผ่นดินไหวตามขนาดแมกนิจูด 5.1-5.9 ตามมาอีกหลายครั้ง

ข้อมูลเพิ่มเติม http://earthquake.usgs.gov/earthquakes/recenteqsww/Quakes/us2010rja6.php
http://en.wikipedia.org/wiki/2010_Haiti_earthquake

 

แผ่นดินไหวโทโฮะกุ (2011 Tōhoku Earthquake)

11 มีนาคม พ.ศ.2554 (ค.ศ.2011)

แผ่นดินไหวโทโฮะกุ ภาพจาก U.S. Navy

วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 14:46 (ท้องถิ่น) เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่วัดแรงสั่นสะเทือนได้ขนาด 9.0 โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่นอกชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรโอชิกะ โทโฮะกุ ลึกลงไปใต้พื้นดิน 32 กิโลเมตร จากแรงสั่นสะเทือนที่วัดได้ นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็นเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเป็นอันดับสี่ของโลกเท่าที่มีการบันทึกได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2443

โดยเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวได้เคลื่อนเกาะฮอนชูไปทางตะวันออก 2.4 เมตร และเคลื่อนแกนหมุนของโลกไปเกือบ 10 เซนติเมตร ตามข้อมูลของสถาบันธรณีฟิสิกส์และวิทยาภูเขาไฟแห่งชาติของอิตาลี แผ่นดินไหวดังกล่าวได้ย้ายตำแหน่งแกนโลกไป 25 เซนติเมตร การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกเล็กน้อยหลายอย่าง รวมไปถึงความยาวของวันและความเอียงของโลก อัตราเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกเพิ่มมากขึ้น ทำให้วันหนึ่งสั้นลง 1.8 ไมโครวินาทีเนื่องจากการกระจายมวลของโลกใหม่

แผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกของหมู่เกาะตอนเหนือของญี่ปุ่น

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ 1 และ 2 ถูกคลื่นสึนามิซัดข้ามกำแพงและทำลายระบบกำเนิดไฟฟ้าดีเซลสำรอง จึงเกิดปัญหาในการลดความร้อน และทำให้เกิดระเบิด 2 ครั้งที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ 1 และทำให้กัมมันตภาพรังสีในบริเวณรอบข้างมีระดังสูงขึ้น ประชาชนกว่า 200,000 คนในบริเวณใกล้เคียงต้องอพยพหนี

จากเหตุการณ์นี้ ธนาคารโลกประมาณการความเสียหายระหว่าง 122,000 ถึง 235,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่ามูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิอาจมีมูลค่าสูงถึง 309,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งทำให้มันเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวีตไม่ต่ำกว่า 9,408 ราย สูญหาย 14,716 คน ได้รับบาดเจ็บ 2,746 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยอีกจำนวนมาก

ข้อมูลเพิ่มเติม

[Infographic] แผ่นดินไหวโทโฮะกุ ประเทศญี่ปุ่น 2554 (แนะนำ)
http://th.wikipedia.org/wiki/แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ_พ.ศ._2554
http://earthquake.usgs.gov/earthquakes/eqinthenews/2011/usc0001xgp/

 

แผ่นดินไหวญี่ปุ่นและการเกิดสึนามิ (เครดิต GeoThai.net)
แผ่นดินไหวญี่ปุ่นและการเกิดสึนามิ (เครดิต GeoThai.net)

 

มาตราริกเตอร์ หรือ โมเม้นแมกนิจูด ต้องดูให้ดี

แต่ก่อนนักวิทยาศาสตร์วัดค่าความรุนแรงของแผ่นดินไหวตามมาตราริกเตอร์ (Richter magnitude scale) แสดงขนาดเป็นตัวเลข เช่น 6.0 หรือ 7.2 การสั่นสะเทือนขนาด 5.0 ตามมาตราริกเตอร์ มีความรุนแรงเทียบเท่ากับระเบิดขนาด 32 กิโลตัน  ซึ่งใกล้เคียงกับอานุภาพของระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงเมืองนางาซากิเมื่อปีพ.ศ.2487 และการที่ตัวเลขตามมาตราริกเตอร์นี้เพิ่มขึ้นหนึ่งค่า เช่นจาก 5.0 เป็น 6.0 หมายความว่าแอมพลิจูดของคลื่นแผ่นดินไหวมีขนาดเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า

อย่างไรก็ตามปัจจุบันสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) ไม่ได้ใช้มาตราริกเตอร์ แต่ใช้การวัดขนาดแผ่นดินไหวด้วยวิธีโมเม้นแมกนิจูด (สัญลักษณ์ Mw) ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับหน่วยริกเตอร์

[box type=”info” style=”rounded”]แผ่นดินไหวเกิดขึ้นทุกวันทั่วโลก เป็นหลักฐานบ่งบอกว่าโลกเรานั้นไม่หยุดนิ่งแม้จะมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแผ่นดินไหวอย่างมากมาย แต่แผ่นดินไหวก็ยังเป็นธรณีพิบัติภัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เราจึงควรเรียนรู้วิธีการรับมืออย่างมีสติ[/box]

 

วงแหวนแห่งไฟ พื้นที่แห่งแผ่นดินไหวและภูเขาไฟมีพลัง ภาพโดย วิชาการธรณีไทย GeoThai.net