ธรณีแปรสัณฐาน — May 29, 2007 at 3:20 PM

รอยผิดวิสัยโมโหโรวิสิกคืออะไร

by

รอยผิดวิสัยโมโหโรวิสิกคืออะไร

รอยผิดวิสัยโมโหโรวิสิก (Mohorovičić Discontinuity) หรือ รอยผิดวิสัยโมโห คือรอยต่อระหว่างเปลือกโลก (crust) กับชั้นแมนเทิล (mantle) ในทางธรณีวิทยาคำว่า “รอยผิดวิสัย (discontinuity)” คือบริเวณพื้นผิวที่คลื่นไหวสะเทือนมีการเปลี่ยนแปลงความเร็ว ซึ่งหนึ่งในนั้นพบปรากฏอยู่ที่ความลึกเฉลี่ย 8 กิโลเมตรใต้เปลือกโลกภาคพื้นมหาสมุทร และที่ความลึกเฉลี่ยประมาณ 32 กิโลเมตรใต้เปลือกโลกภาคพื้นทวีป บริเวณดังกล่าวคลื่นไหวสะเทือนจะมีความเร็วเพิ่มขึ้น และเป็นที่รู้จักกันดี เรียกว่า “รอยผิดวิสัยโมโหโรวิสิก (Mohorovičić Discontinuity)” หรือมักจะเรียกง่ายๆ ว่า “โมโห (Moho)”

 

รอยผิดวิสัยโมโหถูกค้นพบได้อย่างไร?

รอยผิดวิสัยโมโหถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ.1909 โดยนักคลื่นไหวสะเทือน (seismologist) ชื่อว่า Andrija Mohorovičić ซึ่งนาย Mohorovičić รู้ดีว่าความเร็วของคลื่นไหวสะเทือนมีความสัมพันธ์กับความหนาแน่นของวัตถุที่คลื่นเคลื่อนที่ผ่าน เขาได้ทำการแปลความหมายถึงการเพิ่มขึ้นของความเร็วคลื่นไหวสะเทือนที่ส่งผ่านใต้ผิวโลกว่ามีการเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบใต้โลก ซึ่งการเพิ่มความเร็วนั้นเนื่องมาจากวัสดุมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นตามความลึกที่เพิ่มขึ้น วัสดุความหนาแน่นต่ำใต้ผิวโลกมักอ้างถึงชั้นเปลือกโลก (Earth’s crust) ส่วนชั้นที่มีความหนาแน่นมากกว่าที่อยู่ข้างใต้ก็คือชั้นแมนเทิล (Earth’s mantle) จากการวิเคราะห์ค่าความหนาแน่นอย่างละเอียดพบว่ามีวัสดุที่มีค่าความหนาแน่นคล้ายหินที่มีแร่ประกอบโอลิวีนมาก เช่น เพอริโดไทต์ (peridotite) วางตัวอยู่ใต้แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรบะซอลต์ (basaltic oceanic crust) และแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีปแกรนิต (granitic continental crust)

 

รอยผิดวิสัยโมโหมีความลึกเท่าไหร่?

รอยผิดวิสัยโมโหโรวิสิกนั้นแสดงขอบเขตลึกสุดของเปลือกโลก โดยความหนาของเปลือกโลกที่พบเฉลี่ยลึกประมาณ 8 กิโลเมตรใต้แผ่นเปลือกโลกภาคพื้นมหาสมุทรและ 32 กิโลเมตรใต้แผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีป นาย Mohorovičić ได้อาศัยการค้นพบของเขาเพื่อศึกษาความหนาของเปลือกโลกในบริเวณต่างๆ เขาพบว่าแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นมหาสมุทรมีความหนาค่อนข้างคงที่ ในขณะที่แผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีปมีความหนามากในบริเวณที่เป็นเทือกเขาและความหนาน้อยในบริเวณที่เป็นพื้นราบ  แผนที่ข้างใต้นี้แสดงความหนาของเปลือกโลก สังเกตว่าบริเวณที่มีความหนามากที่สุด (บริเวณสีแดงและสีน้ำตาล) คือบริเวณเดียวกับแนวเทือกเขาสำคัญๆ เช่น เทือกเขาแอนดีส (Andes) ด้านตะวันตกของอเมริกาใต้ เทือกเขารอกกี้ (Rockies) ตะวันตกของอเมริกาเหนือ เทือกเขาหิมาลัย (Himalayas) ตอนเหนือของประเทศอินเดีย และ เทือกเขายูรัล (Urals) แนวเหนือ-ใต้ระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย

แผนที่แสดงรอยผิดวิสัยโมโหทั่วโลก จากข้อมูลดาวเทียม GOCE (ที่มา: GEMMA project)

 

เคยมีใครเห็นรอยผิดวิสัยโมโหหรือไม่?

ไม่เคยมีใครลงไปที่ความลึกที่มากพอที่จะเห็นรอยผิดวิสัยโมโหและยังไม่มีหลุมเจาะใดที่เจาะได้ถึงชั้นรอยผิดวิสัย หลุมเจาะที่จะเจาะถึงความลึกนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมากและมีความยากมาก เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงมากและสภาวะความกดดัน หลุมเจาะที่ลึกที่สุดในปัจจุบันอยู่ใน Kola Peninsula ของสหภาพโซเวียต ซึ่งมีความลึก 12 กิโลเมตร การเจาะถึงชั้นโมโหผ่านแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นมหาสมุทรยังคงไม่เป็นที่ประสบผลสำเร็จ

ในบางพื้นที่พบวัสดุจากชั้นแทนเทิลโผล่ขึ้นมาบนพื้นผิวโดยกระบวนการทางเทคโทนิก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวพบหินที่ซึ่งเคยเป็นรอยต่อระหว่างเปลือกโลกกับชั้นแมนเทิลปรากฏอยู่บนพื้นผิวโลก รูปข้างใต้แสดงหินจากหนึ่งในพื้นที่ที่พบหินดังกล่าว

** Ordovician ophiolite ในอุทยานแห่งชาติ Gros Morne,Newfoundland หินแมนเทิลโบราณโผล่ให้เห็นบนพื้นผิวโลก