Portland Stone หินสร้างวัง

by

หลังจากวันศุกร์ที่ผ่านมาหลายคนคงได้รู้จักพระราชวังบัคคิงแฮม ในกรุงลอนดอน สถานที่ที่เจ้าชายวิลเลี่ยมจุมพิตเคท มิดเดิลตัน จนเป็นภาพที่ตราตรึงใจคนไปทั่วโลกเป็นอย่างดี ภาพที่ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกก็อดสงสัยไม่ได้ว่าผนังที่อยู่เบื้องหลังฉากรักสุดโรแมนติกนี้ประกอบไปด้วยหินอะไร ในระหว่างร่วมพิธีผ่านทางยูทูปเราก็ทำการค้นหาข้อมูลไปด้วย แล้วก็ได้พบคำตอบที่น่าสนใจ

เย็นวันศุกร์นั้นเอง เราได้ร่วมออกเดินทางไปกับกลุ่มนักศึกษาจากเนเธอร์แลนด์ที่เดินทางมาดูหินในอังกฤษโดยการสนับสนุนจาก AAPG ช่างเป็นความบังเอิญ เพราะทริปนี้จะพาเราไปเยือนแหล่งหินที่เป็นที่จิ๊กซอร์ชิ้นสำคัญของพระราชวังบัคคิงแฮมด้วย ซึ่งเป็นที่เดียวกับที่เราค้นหาไว้ เราออกจากกรุงลอนดอนในช่วงบ่ายของวันศุกร์ไปยังเมืองเวย์เมาท์ เมืองชายฝั่งทางใต้ของเกาะอังกฤษ บรรยากาศของเมืองเต็มไปด้วยผู้คนเนื่องจากเป็นวันหยุดยาวและอยู่ในช่วงของการเฉลิมฉลองพิธีเสกสมรส เย็นวันนั้นเราไม่ได้ทำอะไรมากนอกจากแนะนำตัวกับเพื่อนใหม่ที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกประมาณยี่สิบกว่าคน บรรยายกาศเป็นไปด้วยความสนุกสนานแม้ว่าจะต้องคุยกันด้วยมือข้างเดียว เพราะอีกมือต้องใข้ประคองแก้ว ตีหนึ่งคืนนั้นเราเข้านอนแบบมึนๆ โดยที่จำชื่อเพื่อนใหม่ไม่ได้สักคน

วันรุ่งขึ้นเราออกเดินทางแต่เช้ามายังสถานที่ที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจปิโตรเลียมบนบกของเกาะอังกฤษ สถานที่นี้เราได้พบกับดร.เอียน เวสต์ ผู้เชี่ยวชาญธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน ดร.เอียนรอต้อนรับพวกเราด้วยชุดออกภาคสนามสไตล์ผู้ดีอังกฤษแบบเก่า ดร.เอียนในวัยเกษียณพาพวกเราเดินหลบก้อนหินที่เกะกะตามพื้นได้อย่างคล่องแคล่ว เขาหยุดพักเป็นระยะๆ ตามจุดที่เขาคุ้นเคย เพื่อเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชั้นหินบนหน้าผาให้พวกเราฟังอย่างอารมณ์ดี เขาดูใจดีและมีความสุขมาก และดูเขาไม่เบื่อเลยทั้งที่เขาน่าจะทำแบบนี้มาแล้วหลายรอบ จุดแรกที่เราไปดูเป็นหินชุดสำคัญที่เป็นหินต้นกำเนิดน้ำมันในทะเลเหนือที่เรียกว่า Kimmeridge Oil Shales หินดินดานยุคจูแรสสิกนี้มีปริมาณของคาร์บอนสูงมาก จนสามารถจุดติดไฟ ในอดีตเคยมีการทำเหมืองถ่านหินในบริเวณนี้ด้วย น่าเสียดายที่วันนั้นลมทะเลค่อนข้างแรงทำให้การทดสอบจุดไฟบนหินทำได้ยาก อย่างไรก็ตามดร.เอียนกล่าวว่าหินดินดานในบริเวณนี้ยังไม่สุกเต็มที่ที่จะให้น้ำมันเหมือนในทะเลเหนือ น้ำมันที่ผลิตได้จากหลุมเจาะในบริเวณใกล้กันนี้จึงมาจากชั้นหินที่แก่กว่า เรื่องที่น่าสนใจคือ การสำรวจปิโตรเลียมในบริเวณนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก นักธรณีวิทยาอังกฤษที่ไปสำรวจน้ำมันในประเทศอิหร่านได้กลับมาพักผ่อนยังหาดนี้แล้วสังเกตว่าชั้นหินตรงหน้าผามีลักษณะโครงสร้างเหมือนที่เขาพบน้ำมันในอิหร่าน หลังจากนั้นจึงได้เริ่มทำการสำรวจอย่างจริงจัง โดยเน้นการเจาะบนโครงสร้างรูปประทุน (anticline) ต่อมาภายหลังพบว่าน้ำมันส่วนใหญ่ถูกกักเก็บในโครงสร้างของรอยเลื่อน (fault traps) และได้พบแหล่งน้ำมันสำคัญที่เรียกว่า Wytch Farm ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันบนบกที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปตะวันตก
Lulworth Cove มรดกโลก

ช่วงบ่ายของวันเสาร์ดร.เอียนได้พาพวกเรามายังสถานที่ที่เขาบอกว่านักธรณี “ต้องมา” สถานที่แห่งนี้เรียกว่า Lulworth Cove ซึ่งเป็นชายฝั่งที่มีโครงสร้างหินยุ่งกว่าที่อื่นที่เรียกกันในภาษานักธรณีโครงสร้างว่า inversion structure ชั้นหินโค้งงอที่โผล่ในบริเวณนี้เป็นหินยุคจูแรสสิกตอนปลายที่เกิดในสภาพแวดล้อมแบบทะเลสาบและทะเลตื้น ก่อนลงไปดูหินใกล้ๆ ดร.เอียนได้กำชับพวกเราอีกครั้งในเรื่องของความปลอดภัย เนื่องจากแต่ละปีมักจะมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตในบริเวณนี้ พวกเราจึงต้องสวมหมวกนิรภัยป้องกันหินหล่นโดนหัวไว้ตลอด ซึ่งทำให้พวกเราดูแปลกไปจากนักท่องเที่ยวทั่วไป จนมีคนตะโกนทัก Hello Geologist! (สงสัยจะมีนักธรณีไปบ่อยจริงๆ) ด้วยภูมิทัศน์และธรณีวิทยาที่โดดเด่น แนวชายฝั่งบริเวณนี้จึงถูกกำหนดให้เป็นมรดกโลก และได้รับความสนใจจากคนทั่วไปเป็นอย่างมากในช่วงฤดูร้อน ปิดท้ายของวันเราได้แวะชมหินทรายที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำมันหลักของแหล่ง Wytch Farm ที่เรียกว่า Bridport Sands โดยจุดที่เราไปดูเป็นหน้าผาชั้นหินทรายที่อยู่ติดชายหาด West Bay

เหมืองหินปูน Portland

วันต่อมาพวกเราออกเดินทางเช้ากว่าเดิม เพราะต้องทำเวลาก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันกลับประเทศ วันนี้ดร.เอียนได้พาพวกเราไปยังแหล่งหินปูนสีขาวที่อยู่เบื้องหลังความสวยงามของอนุสาวรีย์ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในอังกฤษ แน่นอนว่ารวมไปถึงพระราชวังบัคคิงแฮมด้วย เราเดินทางไปยังเกาะที่ชื่อว่า Isle of Portland ที่นี่เป็นต้นกำเนิดของหินปูนปนฟอสซิลที่เรียกว่า oolite เป็นส่วนใหญ่ อายุจูแรสสิกตอนปลาย เมื่อไปถึงเราก็ได้พบกับแอมโมไนต์ตัวยักษ์ที่เกาะอยู่ตามรั้วข้างถนนพร้อมกับเพื่อนหอยตัวเล็กๆ ที่แทรกอยู่ในหินมากมาย เราเดินไปเรื่อยๆ จนถึงเหมืองหินเก่า ซึ่งเคยถูกใช้งานในอดีตที่ยังคงมีร่องรอยของการทำเหมืองให้เห็นอยู่ นอกจากนี้ในบริเวณใกล้กันนี้ยังมีเหมืองหินที่ยังคงใช้งานอยู่ด้วย หินปูนที่เรียกตามชื่อเกาะว่า Portland stone ได้ถูกตัดออกเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ เพื่อง่ายต่อการขนส่งและใช้งาน บางส่วนถูกส่งไปไกลจนถึงอเมริกา (สร้างตึก UN สำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก) หินเหล่านี้ได้รับความนิยมต่อการก่อสร้างสถาปัตยกรรมอย่างมากเนื่องจากคงทนต่อการผุพัง แต่ง่ายต่อการแกะสลัก ดร.เอียนเล่าว่าพระราชวังบัคคิงแฮมสร้างจากหินปูนในบริเวณนี้ นอกจากนี้ยังเป็นหินที่มีสมบัติในการกักเก็บแก๊สธรรมชาติที่ดีด้วย มาถึงจุดนี้เราไม่รู้ว่าหินที่เรามองดูอยู่นี้จะใช้ประกอบส่วนใดของวัง คิดว่าหากได้มีโอกาสเข้าวังก็จะพกแว่นขยายกับกรดไปด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม

ธรณีวิทยาบริเวณชายฝั่งใต้ของอังกฤษ โดย ดร.เอียน เวสต์ http://www.soton.ac.uk/~imw/

หินปูน Portland http://en.wikipedia.org/wiki/Portland_stone

มรดกโลก Dorset http://whc.unesco.org/en/list/1029