ดอกไม้ในก้อนหิน – กรือเซะ บินตัง เสม็ด.. เม็ดทรายใต้ดวงดาว

by

“ฉันท่องไปบนหาดนี้เป็นเนืองนิจ

ระหว่างทรายกับฟองคลื่น

คลื่นจะสาดลบรอยเท้า

ลมจะพัดฟองแตกกระจาย

แต่ทะเลและฝั่งจะยังคงอยู่

ตลอดกาล..

(ทรายกับฟองคลื่น : คาลิล ยิบราน)

GT-RCT01

 

(๑)

แดดร่มลมกรูกราว, วันเสาร์ที่ ๕ เดือน ๕ ปี ๒๕๕๕.

หมู่เกาะเสม็ด.. ขอบฟ้าทะเลกว้างฝั่งตะวันออก กวักมือเชื้อชวนนักขุดค้นความทรงจำ ให้นำพาตัวเองหวนกลับไปประทับรอยเท้าอีกครั้ง

อาจเพราะหลงใหลในความสามัญ ที่ลงตัวพอเหมาะทั้งระยะการเดินทาง ทัศนียภาพรอบเกาะซึ่งผสานระหว่างหินแกร่งกับผืนทรายละเอียดนุ่มเนียนเท้า

แซมวาดด้วยพันธุ์ไม้หลากชนิดที่ช่วยเติมแต้มสีสันราวภาพเขียนอิมเพรสชันนิสต์

ปฏิมากรรมธรรมชาติจัดวางอย่างกลมกลืน

นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะเร้าเร่งให้ถวิลหา และอยากกลับไปเยือนไม่รู้หน่าย

 

(๒)

สังเกตจากลักษณาการของเลื่อมลายหิน กลุ่มหินบนเกาะเสม็ดจัดอยู่ในประเภทของหินแปร เรียกขานชื่อทางวิชาการว่า หินควอตซ์ไมกา-ชีสต์ (Quartz-Mica Schist)

จุดเด่นสำคัญคือชั้นหินมีการคดโค้งมาก ริ้วแร่ควอตซ์เรียงตัว และบางแห่งถูกดึงเป็นรูปเลนส์คล้ายดวงตา

ทั้งยังมีแผ่นแร่ไมกา (หรือแร่กลีบหิน) ทำให้เห็นผิวหน้าหินเรียบลื่นเป็นมันวาว ขาวระยิบระยับ

เช่นนี้เอง, เมื่อหินแปรกร่อนสลายผุพัง จึงแผ่สะสมเป็นผืนทรายนวลละเมียดน่าลงไปนอนเกลือกกลิ้ง

แหงนมองจากแผ่นหินไล่ระเรื่อยไปยังหมู่แมกไม้

‘เทียนทะเล’ ผลิดอกขาวเล็กๆ มาอวดโฉม ไม้ขนาดย่อมชนิดนี้มักขึ้นตามโขดหินริมชายหาด ให้ร่มครึ้มแก่หนอนหนังสือได้ผูกเปลนอนแทะเล็มบรรยากาศรื่นรมย์ได้ทั้งวัน

หางนกยูงยืนต้นเคียงปรกกิ่งลั่นทม ให้ภาพแรงร้อนสลับเยือกเย็น ขณะทอดตามองอร่ามแสดส้มตัดเฉดกับขาวพร่างพิสุทธิ์

(นักเขียนผู้ยิ่งยงท่านหนึ่งเคยเอ่ยว่า เขาหลงรักฤดูร้อน เพราะฤดูนี้ ดอกไม้หลากชนิดจะชู่ช่อระบัดสีสันจัดจ้าน มองแล้วสวยเป็นบ้า!!)

ที่โดดเด่นกว่าอื่นใดในมุมหนึ่งบนหาดแสงเทียน คงเป็นกลีบบอบบางเหลืองลออของ โพธิ์ทะเล หรือ ปอทะเล ไม้ยืนต้นบนรอยต่อของชายฝั่ง ระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม ซึ่งผลิใบรูปทรงคล้ายหัวใจ กลีบดอกห้ากลีบจะเบ่งบานตอนสายๆ ล่วงบ่ายถึงเย็นจะกลายเป็นสีชมพูอมม่วงแล้วจึงหลุดร่วงไป

ได้มีเวลาเนิบนิ่งสัมผัสเม็ดทราย ดอกไม้ และดวงดาวยามค่ำคืน

ความทรงจำบางอย่างก็ย้อนกลับมาแจ่มชัดในหัวใจ

GT-RCT03

 

(๓)

“กรือเซะ ในภาษามลายูท้องถิ่น แปลว่า เม็ดทราย

บินตัง แปลว่า ดวงดาว

บานา คือ ท่าเรือ

ส่วน บูดี ก็คือ ต้นโพธิ์ทะเล และนี่เป็นที่มาของชื่อ แหลมโพธิ์ (หรือแหลมตาชี) แหลมทรายสัณฐานโค้งยื่นยาวลงไปในทะเล ดังโอบอ่าวปัตตานีไว้ในอ้อมแขน”

เป็นถ้อยความที่เจ้าบ้านเคยเล่าสู่กันฟัง ครั้งผมแรมทางลงไปสัมผัสปัตตานีหนแรก ในช่วงปี ๒๕๔๖

หลายวันคืนที่นั่น ผมวกเวียนสำรวจธรณีวิทยาอยู่ในแถบอำเภอมายอต่อไปจนถึงยะรัง โคกโพธิ์

บางนาทีพบตัวเองอยู่ที่เขาเต่า หลังวัดมาลีนิเวศน์

นานหลายนานอยู่ที่บ้านดูวา พิเทน

บางเวลาลัดเลาะเสาะหาหินแกรนิต หรือเก็บหินลอยน้ำที่หาดแฆแฆ เที่ยวชมตลาดนัดเย็นบ้านปาลัส ดื่มกินสนทนากับมวลมิตรในตัวเมือง

ก่อนกลับไปเอนหลังพักพิงกายที่เรือนชราของ ครูนอง-แม่เทียบ เทพสุวรรณ ที่บ้านเมืองยอน

นับเป็นอีกหนึ่งรอยจำอบอุ่นในน้ำใจอารีของคนพื้นถิ่นตานี

GT-RCT04

 

(๔)

ฟังจากเรื่องราวเล่าขาน..

มีหลักฐานชี้ชัดว่าเมืองปัตตานีในปัจจุบัน เคยเป็นอาณาจักรลังกาสุกะ อันยิ่งใหญ่ในอดีต โดยมีรากเหง้ามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ รุ่งเรืองเคียงข้างอาณาจักรฟูนัน

เป็นศูนย์กลางการค้าบนคาบสมุทรมลายู และมียุคทองอยู่ในห้วงสมัยที่ ๔ ราชินีจาก ‘ราชวงศ์ศรีวังสา’ ขึ้นเป็นรายาปกครอง (ในราว พ.ศ. ๒๑๒๗ – ๒๒๓๐ หรือร่วม ๔๐๐ ปีมาแล้ว)

ฉากหนึ่งซึ่งเป็นที่จดจำของนักประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๓๒๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อทัพสยามเข้าตีเมืองปัตตานีได้สำเร็จ แล้วต้องการนำปืนใหญ่สองกระบอก คือ ปืนพญาตานี และปืนศรีนครี กลับกรุงเทพฯ

พงศาวดารเมืองปัตตานีบันทึกว่า “ปืนกระบอกที่หนึ่งนั้น ออกไปถึงเรือหลวงก่อน ได้ยกปืนขึ้นบนเรือหลวงเสร็จแล้ว เรือที่บรรทุกปืนกระบอกที่สองอยู่ข้างหลัง เกิดพายุ เรือล่มลง ปืนก็จมสูญหายไปด้วย”

จากร่องรอยที่ประมวลได้ สันนิษฐานกันว่าเรือคงถูกคลื่นลมโหมกระหน่ำ กระทั่งอับปางบริเวณปลายแหลมโพธิ์ ซึ่งสมัยนั้น (๒๐๐ ปีที่แล้ว) น่าจะอยู่บริเวณบ้านดาโต๊ะ–ตะโล๊ะสะมิแล และร่องน้ำโบราณอยู่ระหว่างบ้านปาเระกับบ้านดาโต๊ะ

ด้วยคำบอกเล่าและพงศาวดารเหล่านี้ ล่วงผ่านถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงปรากฏเรือสำรวจทรัพยากรธรณี และทีมโบราณคดีใต้น้ำ ได้นำเครื่องมือทางธรณีฟิสิกส์ไปปูพรมค้นหาปืนใหญ่ที่จมหายไป

แต่เพราะข้อจำกัดจากความตื้นเขินของอ่าวปัตตานี ทำให้งานสำรวจคืบคลานลำบาก ประสิทธิภาพเครื่องมือถูกตัดทอนลง และข้อมูลไม่ครบถ้วนเท่าที่ควรจะได้

ผลสำรวจขั้นต้นสรุปลงตรงที่ได้พบเพียงซากเรือจมหนึ่งลำ อยู่บริเวณด้านเหนือของบ้านดาโต๊ะ

ส่วนปืนใหญ่ที่ฝังจมลงนั้นยังคงเป็นปริศนาต่อไป เหตุผลหนึ่งคาดว่าตะกอนทรายอาจทับถมหนาเกินกว่าเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์จะค้นเจอ หรือแนวสำรวจยังไม่ครอบคลุมพื้นที่

ประวัติศาสตร์บางหน้าจึงยังคงถูกกลบฝังอยู่ใต้ผืนทราย

GT-RCT05

(๕)

จากต้นพันธุ์ แหลมโพธิ์ เสม็ด และเม็ดทราย

หลายห้วงคำนึงใต้ร่มเงาไม้ และกรุ่นอายความคิดถึงใต้แสงดาวที่ไร้พรมแดน นำพาผมย้อนกลับไปไกลถึงเมืองปัตตานี

นั่นอาจเป็นเพราะผมเพิ่งเริ่มตระหนักรู้ต่อสิ่งเล็กๆ ว่าทุกสรรพชีวิตบนโลกใบนี้ ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่ได้โดยลำพัง อย่างไร้รากเหง้าที่มา

ทุกรอยเท้าบนหนทาง ล้วนเคยฝากฝังเรื่องราว เชื่อมโยงสัมพันธ์

และทุกสิ่งย่อมแปรเปลี่ยนได้.. ไม่จีรัง

ทั้งดอกไม้ ก้อนหิน และดวงดาว

ไม่เว้นกระทั่งคลื่นลมหายใจสุดท้ายของทุกผู้คน

คงเหลือเพียงความดีงามในความจริงอันเป็นนิรันดร์

 

“””””””

เรื่องและภาพ   โดย รชฏ มีตุวงศ์

เผยแพร่ ในคอลัมน์ “ดอกไม้ในก้อนหิน” นิตยสาร “หัวใจเดียวกัน” (พิมพ์แจกในพื้นที่ชายแดนใต้) เมื่อช่วงปี ๒๕๕๕