ไพรเมตสกุลใหม่ของโลกและพ.ร.บ.ซากดึกดำบรรพ์ฉบับใหม่

by

นักธรณีวิทยาไทยพบซากฟอสซิลไพรเมตจมูกเปียกวงศ์ศิวะอะเดปิดขนาดเล็กที่สุดในโลกที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ มีน้ำหนักเพียง 5 ขีด สร้างสถิติพบครั้งแรกในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โยงความสัมพันธ์เป็นบรรพบุรุษของลิงลมในเกาะมาดากัสการ์ ทวีปแอฟริกา และการค้นพบไพรเมตรชนิดนี้ ส่งผลให้เกิดความคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์และแหล่งซากดึกดำบรรพ์จนเกิดเป็น “พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551” ที่จะมีผลบังคับใช้ในต้นเดือนสิงหาคมนี้

ดร.เยาวลักษณ์ ชัยมณี นักธรณีวิทยา 8 สำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์ และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 ก.พ.51 ว่า ทีมสำรวจของเธอค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์กลุ่มไพรเมตจมูกเปียก หรือสเตรปสิรีน วงศ์ศิวะอะเดปิดที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ณ เหมืองถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง

ดร.เยาวลักษณ์เผยว่า ซากดึกดำบรรพ์ที่พบประกอบด้วยกรามล่างจำนวน 4 กราม จุดสำคัญคือการค้นพบฟันกรามน้อยหนึ่งซี่ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าฟันกรามน้อยของไพรเมตกลุ่มอื่นๆ อันเป็นลักษณะเฉพาะของวงศ์ศิวะอะเดปิด โดยตั้งชื่อว่า สยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส (Siamoadapis Maemohensis ) ซึ่งหมายถึงไพรเมตวงศ์ศิวะอะเดปิดชื่อ “สยาม” ขุดพบที่เหมืองแม่เหมาะ

นักธรณีวิทยาชี้ว่า ทั่วไปแล้ว ฟอสซิลของไพรเมตวงศ์ศิวะอะเดปิดจะค้นพบได้เฉพาะทวีปเอเชียเท่านั้น โดยพบครั้งแรกในประเทศอินเดียจึงตั้งชื่อตามพระนามของพระศิวะ ไพรเมตชนิดนี้มีชีวิตอยู่ในยุคอีโอซีนเมื่อ 40 ล้านปีก่อน ต่อมามีการค้นพบไพรเมตวงศ์ศิวะอะปิดในประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น จีน ปากีสถาน พม่า และไทย แต่ไพรเมตวงศ์ศิวะอะเดปิดที่เคยพบทั้งหมดจะมีน้ำหนักตัวมากถึง 1 -2 กก.ขึ้นไป

ขณะที่ซากฟอสซิลของไพรเมตจมูกเปียกวงศ์ศิวะอะเดปิด ที่ค้นพบล่าสุดจะมีน้ำหนักเพียงประมาณ 500-700 กรัม มีอายุอยู่เมื่อประมาณ 13 ล้านปีก่อนหรือตอนกลางของยุคไมโอซีนเมื่อ 8 ล้านปีที่แล้ว ถือเป็นการค้นพบครั้งแรกของประเทศไทยและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ดร.เยาวลักษณ์ อธิบายว่า การศึกษาเปรียบเทียบลักษณะและขนาดของกรามและฟันซึ่งเป็นจุดสำคัญในการจำแนกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมระหว่าง สยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส กับไพรเมตวงศ์อื่นๆ พบว่า สยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส มีลักษณะใกล้เคียงกับลิงลม (lemurs) มีหางยาวไว้เกาะต้นไม้ และมีวิวัฒนาการน้อยซึ่งพบเฉพาะเกาะมาดากัสการ์ ทวีปแอฟริกา ลำตัวของ สยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส มีความยาว 15 ซม.หรือเล็กกว่าลิงลมครึ่งหนึ่ง หากินตอนกลางคืน กินแมลง ใบไม้ และผลไม้เป็นอาหาร ไม่สามารถกัดกินอาหารแข็งๆ ได้
“การค้นพบ สยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส จึงแสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ที่ก่อนหน้านี้ที่เหมืองแม่เมาะก็มีการค้นพบฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาแล้วหลากหลายชนิด เช่น หมาหมีที่มีการขุดค้นเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพบฟอสซิลไพรเมตที่นี่ หากมีการสำรวจมากขึ้นก็เชื่อว่าจะทำให้เราได้ค้นพบซากสิ่งมีชีวิตโบราณอย่างหลากหลายมากขึ้นอีก”
ดร.เยาวลักษณ์ ชี้ด้วยว่า ความสำคัญของการค้นพบยังอาจเป็นตัวชี้เบาะแสว่าทวีปเอเชียเคยเป็นแหล่งกำเนิดของสัตว์กลุ่มไพรเมตวงศ์ศิวะอะเดปิดมาก่อน ซึ่งปัจจุบันยังไม่อาจระบุถึงที่มาของลิงลมได้ แต่ก็ไม่อาจชี้ชัดไปได้ว่า สยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส ซึ่งน่าจะเป็นบรรพบุรุษของลิงลมและลิงลมจะเคยอาศัยในทวีปเดียวกันมาก่อนหรือไม่ โดยทฤษฎีเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของทวีปก็เป็นเพียงทฤษฎีหนึ่ง และมีอีกหลายทฤษฎีที่มีความเป็นไปได้ อาทิ ทฤษฎีเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอพยพ หรือแม้แต่ทฤษฎีการย้ายถิ่นแบบลอยแพที่เป็นเหตุบังเอิญ

ทั้งนี้ ดร.เยาวลักษณ์และคณะตามโครงการความร่วมมือสำรวจศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไทย –ฝรั่งเศส ได้ค้นพบ สยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส ณ เหมืองถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง เมื่อปี 2547 ที่ชั้นถ่านหินลิกไนต์ลึกลงไป 500 เมตร ก่อนจะใช้เวลาวิจัยจนเสร็จสิ้น

ผลงานการค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารฮิวแมนน์ อีโวลูชัน (Journal of Human Evolution) ฉบับที่ 54 หน้า 434 -443 ประจำเดือนมีนาคม 2551 ในชื่อรายงานว่าการค้นพบไพรเมตวงศ์ศิวะอะเดปิดในยุคไมโอซีนกลางครั้งแรกในประเทศไทย” ( First middle Miocene sivaladapid primate from Thailand : อ่านบทคัดย่อ-Abstract )

สำหรับซากฟอสซิลของสยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส ถูกเก็บรักษาไว้ ณ กรมทรัพยากรธรณี ถ.พระรามหก กรุงเทพฯ ยังไม่มีแผนนำออกแสดงแก่สาธารณชน 

แถลงข่าวไพรเมตสกุลใหม่ของโลกและพ.ร.บ.ซากดึกดำบรรพ์ฉบับใหม่

       นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ดร.วราวุธ สุธีธร ผอ.สำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ฯ และดร.เยาวลักษณ์ ชัยมณี นักธรณีวิทยา แถลงข่าวสื่อมวลชนร่วมกันถึงการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 และการค้นพบไพรเมตสกุลและชนิดใหม่ของโลกอายุ 13 ล้านปี เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 ณ ห้องประชุมชั้น 1 ตึกเพชร เวลา 13.30 น.

นายอภิชัย เปิดเผยว่า การค้นพบไพรเมตชนิดนี้เป็นผลการศึกษาวิจัย โดย ดร. เยาวลักษณ์ ชัยมณี นักธรณีวิทยา 8 สำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี และคณะ ตามโครงการร่วมมือสำรวจศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไทย-ฝรั่งเศส
“จากการค้นพบชิ้นส่วนกรามล่างพร้อมฟัน จำนวน 4 กราม ที่นักธรณีวิทยาได้สำรวจพบในชั้นถ่านหิน บริเวณเหมืองถ่านหินแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เมื่อปี พ. ศ. 2547 เจ้าหน้าที่ได้การตรวจสอบจากตัวอย่างต้นแบบจากที่เคยสำรวจพบ และจากผลการศึกษาวิจัย พบว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกสัตว์ไพรเมตสกุลและชนิดใหม่ของโลก ให้ชื่อว่า สยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส (Siamoadapis maemohensis) จัดอยู่ในจำพวกไพรเมตจมูกเปียก วงศ์ศิวะอะเดปิเด ซึ่งซากดึกดำบรรพ์ของวงศ์นี้พบเฉพาะในทวีปเอเชียเท่านั้น ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพเมียนมาร์ อินเดีย ปากีสถาน และประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงเวลาอีโอซีน (40 ล้านปี) และสูญพันธุ์ในสมัยไมโอซีนตอนปลาย (8 ล้านปี) สยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิสมีขนาดเล็กที่สุดในวงศ์ศิวะอะเดปิด มีน้ำหนักราว 500-700 กรัม จากขนาดตัวและลักษณะฟัน คาดว่าเป็นไพรเมตที่กินผลไม้ ใบไม้ และแมลงเป็นอาหาร” ดร.เยาวลักษณ์ กล่าว

และการค้นพบไพรเมตรชนิดนี้ ส่งผลให้เกิดความคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์และแหล่งซากดึกดำบรรพ์จนเกิดเป็น “พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551” ที่จะมีผลบังคับใช้ในต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยนายอภิชัย กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ภายหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว ผู้ใดที่มีซากดึกดำบรรพ์อยู่ในการครอบครอง จะต้องนำมาขึ้นทะเบียนให้กรมทรัพยากรธรณีทราบภายใน 1 ปี

พระราชบัญญัติตัวนี้จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ซึ่งผู้ใดที่มีอยู่ในครอบครอง จะต้องนำมาขึ้นทะเบียนให้เราทราบก่อน แล้วจึงจะยังสามารถครอบครองซากดึกดำบรรพ์นั้นต่อได้ เว้นแต่ซากดึกดำบรรพ์ชิ้นนั้นจะเป็นสิ่งที่หายากและมีคุณค่า สมควรเก็บไว้เป็นสมบัติของชาติ มีเพียงไม่กี่ชิ้นในโลก” นายอภิชัยกล่าว

และภายหลังการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างเป็นทางการแล้ว ผู้ที่มีอยู่ในครอบครองอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือสถานที่ใดๆ ก็ได้ จะต้องนำมาขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นๆ ภายใน 1 ปี หรือหากเกิดการมีค้นพบซากดึกดำบรรพ์ใหม่ จะต้องแจ้งให้พนักงานทราบภายใน 7 วัน หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท” นายอภิชัยกล่าวเสริม

 

ดาวน์โหลดรายละเอียด“พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551”ได้ที่นี่

ที่มา กลุ่มงานประชาสัมพันธ์กรมทรัพยากรธรณี และผู้จัดการออนไลน์