ทำไมเกิดแผ่นดินไหวบ่อยขึ้น?

by

ข่าวเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นแทบจะทุกวันในช่วงตลอดสองสามปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวเฮติและชิลี และล่าสุดที่ญี่ปุ่น ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าแผ่นดินไหวเกิดบ่อยขึ้นหรือไม่? ทำไมจึงมีแผ่นไหวเพิ่มมากขึ้น? หรือว่าโลกเรากำลังจะแตก?

อัตราปกติ

ดูเหมือนว่าคำถามเหล่านี้จะเป็นความจริงตามความรู้สึกที่ได้จากการรับรู้ข่าวสารในปัจจุบัน แต่คำตอบก็คือ แผ่นดินไหวยังคงเกิดขึ้นใน “อัตราปกติ” จากข้อมูลสถิติแผ่นดินไหวโดยสำนักธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา (USGS) ที่บันทึกไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2443 (สถิติแผ่นดินไหว)

สำนักธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกาได้ประเมินว่าแต่ละปีมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นทั่วโลกหลายล้านครั้ง ซึ่งบางครั้งก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากการตรวจวัดหรือมีขนาดความรุนแรงน้อยมาก

ปัจจุบันแผ่นดินไหว (ขนาดมากกว่า 4.0) ที่ตรวจจับได้จากศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NEIC) มีเฉลี่ยเพียง 55 ครั้งต่อวัน หรือประมาณ 20,000 ครั้งต่อปี

 

สถิติแผ่นดินไหวใหญ่

จากข้อมูลสถิติของสำนักธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปีพ.ศ.2443 ทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าแต่ละปีจะมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ (มากกว่า 7.0) เกิดขึ้นบนโลกประมาณ 16 ครั้ง แบ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาด 7.0-7.9 รวม 15 ครั้ง และแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 8.0 อีกหนึ่งครั้ง

อย่างไรก็ตามในช่วง 39 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2516 ถึง 2555 พบว่ามีจำนวนเพียง 9 ปีที่มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จำนวนมากกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2519 2533 2538 2542 2550 2552 2553 2554 และ 2556

ปีที่มีการบันทึกแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากที่สุดคือปีพ.ศ.2553 ซึ่งพบแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จำนวน 24 ครั้ง ในขณะที่ปีพ.ศ.2532 และ 2531 มีจำนวนแผ่นดินไหวขนาดใหญ่น้อยกว่าปกติ คือ 6 และ 7 ครั้งตามลำดับ

 

เครื่องมือมากขึ้น รู้แผ่นดินไหวมากขึ้น

เนื่องจากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวที่มีการติดตั้งเพิ่มมากขึ้นทั่วโลกในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมานี้ ทำให้สามารถระบุแผ่นดินไหวได้มากกว่าเดิม ซึ่งอย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สูงกว่า 6 ริกเตอร์ก็ยังคงเกิดขึ้นในอัตราคงที่

นายเดฟ ชูเมเกอร์ นักธรณีวิทยาประจำเว็บไซต์ The Geology News Blog ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว โดยเลือกแผ่นดินไหวขนาด 6.0 ถึง 6.9 มาศึกษาตามหลักสถิติอย่างง่าย พบว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมาแผ่นดินไหวขนาด 6.0 ถึง 6.9 เฉลี่ยแล้วเกิดขึ้นในช่วงทุกๆ 2.7 ถึง 3.5 วัน

อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้คือเป็นค่าเฉลี่ยจากทั้งปี ซึ่งบางวันอาจจะเกิดมาก เกิดน้อยกว่านี้ก็ได้ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 54 ที่ผ่านมาเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 ถึง 6.9 ริกเตอร์ถึง 19 ครั้งในวันเดียวที่ประเทศญี่ปุ่น

กราฟแสดงจำนวนแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลกเฉลี่ยต่อปี (ภาพ GeoThai.net, ข้อมูล USGS)

สรุป

ดังนั้นการที่เรารู้สึกว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นนั้นเนื่องมาจากหลายสาเหตุที่สามารถสรุปได้ดังนี้

  • สถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ซึ่งทำให้สามารถระบุแผ่นดินไหวได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น แม้แต่แผ่นดินไหวขนาดเล็กๆ ที่ไม่เคยตรวจเจอมาก่อน ในปีพ.ศ.2474 มีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเพียง 350 สถานี ในขณะที่ปัจจุบันมีมากกว่า 8,000 แห่งทั่วโลก จากสถิติในรอบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2443) NEIC คาดการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขนาด 7.0-7.9 ริกเตอร์ไว้ที่เฉลี่ย 16 ครั้งต่อปี และแผ่นดินไหวขนาด 8.0 หรือมากกว่าเฉลี่ยเกิดขึ้นปีละหนึ่งครั้ง ยกเว้นปีพ.ศ.2550 ที่พบแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 8.0 ถึง 4 ครั้ง
  • ในขณะที่จำนวนแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มีอัตราค่อนข้างคงที่ แต่จำนวนประชากรในเขตเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวกลับมีเพิ่มมากขึ้น เช่น บริเวณตามแนวรอยต่อของเปลือกโลก ทำให้หลายคนคิดว่าแผ่นดินไหวมีความรุนแรงมากขึ้น แต่ละประเทศที่อยู่ในพื้นที่เสียงภัยแผ่นดินไหวก็มีความพร้อมในการรับมือแผ่นดินไหวแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องของความแข็งแรงของสิ่งปลูกสร้าง ในแผ่นดินไหวที่ขนาดเท่ากัน ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และตำแหน่งที่เกิดด้วย
  • การสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่ดีขึ้น ในอดีตเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้น ผู้คนในอีกซีกโลกอาจจะไม่รับรู้ข่าวสาร หรืออาจจะรู้ช้ากว่าไปหลายวันหรือหลายสัปดาห์ หรืออาจจะเป็นแค่ข่าวเล็กๆ เท่านั้น แต่ปัจจุบันเรามีอินเตอร์เน็ตที่สามารถรับรู้ข่าวสารได้อย่างทันท่วงที การพัฒนาด้านการสื่อสารและความสนใจต่อภัยธรรมชาติที่เพิมมากขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มหันมาสนใจแผ่นดินไหวมากขึ้นด้วย
  • แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างค่อนข้างคงที่ในแต่ละปี แต่ประชาชนกลับให้ความสนใจเฉพาะแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายมากกว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในบริเวณอื่นๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีความเสียหาย ทำให้มองดูเหมือนว่าแผ่นดินไหวไหวกระจุกกันอยู่ในบริเวณหนึ่งๆ เท่านั้น เช่น เมืองใหญ่ๆ ที่เกิดเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวอยู่แล้วอย่าง แคลิฟอร์เนีย ชิลี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย เป็นต้น

นอกจากนี้ USGS ยังได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า จำนวนแผ่นดินไหวที่เพิ่มขึ้นช่วงระยะสั้นๆ ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ตามมา ในขณะเดียวกัน เมื่อไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีก โดยปกติแล้วการเพิ่มหรือลดของอัตราการเกิดแผ่นดินไหวในช่วงระยะสั้นๆ เป็นผลจากการปรับสมดุลความกดดันของเปลือกโลกตามธรรมชาติ ซึ่งยังไม่สามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อย่างแม่นยำได้ในขณะนี้

แม้จะรู้สึกว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม แต่จริงๆ แล้วแผ่นดินไหวไม่ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นดังที่คิด จำนวนแผ่นดินไหวในปัจจุบันยังคงอยู่ในอัตราปกติเมื่อเที่ยบกับในอดีต ฉะนั้นอย่าได้วิตกเมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งต่อไป แต่จงเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ