แนะแนวการศึกษา — November 22, 2009 at 8:17 PM

เส้นทางอาชีพนักธรณีวิทยา

by

เหตุการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ ภาวะโลกร้อน ตลอดจนปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กระตุ้นความสนใจในสาขาอาชีพนักธรณีวิทยามากขึ้น ส่งผลให้มีผู้สนใจเข้าศึกษาในสายวิชาชีพนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เส้นทางของนักธรณีวิทยามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งยังคงเป็นที่สงสัยสำหรับหลายๆ คน และอยากจะรู้จักลักษณะหน้าตาของเส้นทางสายนี้ หนทางที่ท้าทายแห่งนี้ก็เป็นเส้นทางหนึ่งที่ออกแบบไว้สำหรับพาหนะที่เหมาะสม ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลี้ยวเข้ามายังถนนสายนี้ จงหยุดคิดและสำรวจตัวเองก่อนว่า เราเหมาะที่จะเดินบนเส้นทางสายนี้หรือไม่ ถนนของการเป็น “หมอโลก” นั้นจะเป็นอย่างไร ต้องผ่านการเรียนรู้อะไรบ้าง ลองจอดรถสักพัก แล้วอ่านข้อมูลต่อไปนี้สักนิดเถิด

ธรณีวิทยาคืออะไร

ธรณีวิทยาเป็นสาขาวิชาที่ศึกษาองค์ประกอบ โครงสร้างเเละกระบวนการตามธรรมชาติของโลก ตลอดจนผลอันสืบเนื่องมาจากกระบวนการที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก เนื่องจากกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาทางธรณีกาล โดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เนื่องจากการดำรงชีพของมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรธรณี อันได้แก่ แร่ หิน น้ำใต้ดิน และเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทรัพยากรเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง โดยเป็นทั้งวัตถุดิบและพลังงาน ความรู้ทางธรณีวิทยาจึงมีความสำคัญในการนำไปประยุกต์กับงานสำรวจ และการออกแบบ เพื่อการพัฒนาปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความมั่นคงของชาติ เช่น เส้นทางคมนาคม เขื่อน โรงไฟฟ้า แหล่งสำรองของทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมทั้งการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ อีกด้วย การศึกษาในสาขาวิชาธรณีวิทยาจึงประกอบด้วยการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิชาทางธรณีวิทยาแขนงต่างๆ รวมทั้งการศึกษาและการฝึกภาคสนาม

 

ข้อมูลเพิ่มเติม ทำไมต้องธรณี?

คลิปแนะนำการทำงานของนักธรณีวิทยา

บทบาทของนักธรณีวิทยา

นักธรณีวิทยา คือ ผู้ศึกษา ค้นคว้า และเสาะแสวงหา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในทุกสรรพสิ่งลึกลงไปภายใต้พื้นผิวโลก และถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคคลในสายงานอื่นๆ เพื่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้นอย่างสมดุลกับธรรมชาติ โดยการศึกษาข้อมูลและหลักฐานที่ได้จากการสำรวจอย่างมีระบบ นักธรณีวิทยามีหน้าที่การทำงานในหลากหลายบทบาท อาทิเช่น

  • Coal geologists สำรวจและวิเคราะห์ทรัพยากรถ่านหิน ประเมินศักยภาพการทำเหมืองถ่านหิน และการพัฒนาก๊าซธรรมชาติจากถ่านหิน (ข้อมูลเพิ่มเติม เซียนต้อย..คน(ไม่)เอาถ่าน)
  • Computing geologists พัฒนาโปรแกรมที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ เช่น ระบบฐานข้อมูล ระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) ข้อมูลสถิติต่างๆ เป็นต้น
  • Economic geologists ศึกษาวิเคราะห์และประเมินศักยภาพแหล่งแร่เศรษฐกิจ
  • Engineering geologists วิเคราะห์ข้อมูลทางธรณีวิทยา เพื่อให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานของรัฐ และเอกชน ในเรื่องของความเหมาะสมของพื้นที่ก่อสร้าง อาทิ เขื่อน ทางหลวง สนามบิน อุโมงค์ เป็นต้น และในการสำรวจและผลิตน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แหล่งแร่ อีกด้วย ซึ่งต้องทำงานร่วมกับวิศวกร
  • Environmental geologists ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้พื้นพูพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีค่าเหมือนเดิม
  • Geochemists ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของแร่และหิน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการกระจายตัว และคุณภาพของแร่ในเปลือกโลก
  • Geochronologists วิเคราะห์อายุของหิน โดยการศึกษาจากการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี (ข้อมูลเพิ่มเติม ไขปริศนาอายุด้วย Carbon-14)
  • Geomorphologists ศึกษาภูมิประเทศ และกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวโลก
  • Hydrogeologists ศึกษาปริมาณและคุณภาพของน้ำใต้ดิน ตรวจสอบการปนเปื้อน และพัฒนาน้ำใต้ดินมาใช้  (ข้อมูลเพิ่มเติม น้ำบาดาล: การเกิดและการพัฒนาที่ยั่งยืน)
  • Marine geologists ศึกษาสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเลและมหาสมุทร ให้เข้าใจถึงวิวัฒนาการของแอ่งในมหาสมุทร เป็นประโยชน์ต่อการสำรวจแหล่งแร่และปิโตรเลียม
  • Mineralogists วิเคราะห์และจำแนกแร่และหิน จากองค์ประกอบทางเคมี และโครงสร้างของแร่ เพื่อนำไปพัฒนาในอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม (ข้อมูลเพิ่มเติม คุณสมบัติทางกายภาพของแร่)
  • Mining geologists ค้นหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ วิเคราะห์และศึกษาแง่ของศักยภาพและความปลอดภัยในการทำเหมือง (ข้อมูลเพิ่มเติม สังกะสีมาจากไหน)
  • Paleontologists ศึกษาซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับ การกำหนดอายุทางธรณีวิทยา การสำรวจปิโตรเลียม วิวัฒนาการของสภาพแวดล้อมในอดีต (ข้อมูลเพิ่มเติม ไดโนเสาร์ตะลุยโลกล้านปี)
  • Petroleum geologists ศึกษาข้อมูลธรณีวิทยา ร่วมกับข้อมูลหลุมเจาะ ข้อมูลธรณีฟิสิกส์ ข้อมูลธรณีเคมี เพื่อหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และช่วยวิศวกรปิโตรเลียมในกระบวนการสำรวจและผลิต (ข้อมูลเพิ่มเติม ปิโตรเลียม)
  • Planetary geologists ศึกษาพฤติกรรมและวิวัฒนาการของโลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะ (ข้อมูลเพิ่มเติม นักธรณีวิทยาที่ออกภาคสนามไกลที่สุด)
  • Sedimentologists ศึกษากระบวนการเกิดหินตะกอน คุณสมบัติทางการภาพและเคมีของหิน เพื่อนำไปประยุกต์กับการหาแหล่งถ่านหิน ปิโตรเลียม และทรัพยากรแร่ (ข้อมูลเพิ่มเติม หินตะกอน: ชนิดและการจำแนก)
  • Stratigraphers ศึกษาการระบบของชั้นหินตะกอน วิเคราะห์ซากดึกดำบรรพ์ และส่วนประกอบหินตะกอนที่ได้จากหลุมเจาะ เปรียบเทียบกับข้อมูลกับพื้นที่อื่น ซึ่งมีประโยชน์ต่อการหาทรัพยากรธรรมชาติ
  • Structural geologists ศึกษารูปร่างและการเปลี่ยนรูปของหิน เพื่ออธิบายถึงการกระบวนการเกิด ซึ่งการเปลี่ยนรูปโครงสร้างโลกนั้นมีศักยภาพต่อการสะสมตัวของแหล่งแร่ และปิโตรเลียม (ข้อมูลเพิ่มเติม ธรณีแปรสัณฐาน)
  • Surficial geologists ศึกษาตะกอน และชั้นหินบริเวณผิวโลก เพื่อเป็นข้อมูลต่อการก่อสร้าง การสำรวจแหล่งแร่ แหล่งปนเปื้อน การจัดการพื้นที่และการวางระบบผังเมือง
  • Volcanologists ศึกษาภูเขาไฟที่ยังปะทุและดับแล้ว ศึกษากระบวนการเกิดทั้งทางเคมี และกายภาพ เพื่อประเมินการเสี่ยงภัยในอนาคต (ข้อมูลเพิ่มเติม หินอัคนี: ชนิดและการจำแนก)
  • Well site geologists ทำงานใกล้ชิดกับทีมงานขุดเจาะในพื้นที่สำรวจ เพื่อให้มั่นใจว่าหลุมเจาะนั้นอยู่ในตำแหน่งที่กำหนดไว้ และทำการเก็บตัวอย่างจากหลุมเจาะมาวิเคราะห์ (ข้อมูลเพิ่มเติม แท่นอาทิตย์ เจาะชีวิต ติดก๊าซ)

อยากรู้จักมากกว่านี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในภาคผนวกของรายงานเรื่อง Status of the Geoscience Workforce 2009 เผยแพร่โดย The American Geological Institute (AGI)

นักธรณีวิทยาจะต้องบูรณาการความคิดกับข้อมูลที่มีอยู่ บวกกับจินตนาการ และถ่ายทอดให้กับผู้อื่น โดยทั่วไปงานทางธรณีวิทยามักจะอยู่ในชั้นตอนแรกๆ ของโครงการต่างๆ หลังจากนั้นจะคอยควบคุม ให้คำแนะนำ และประเมินผลกับผู้ร่วมงานจนเสร็จสิ้นโครงการ นักธรณีวิทยาจะต้องถ่ายทอดผลการศึกษา เสนอแนะ และแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่นอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักธุรกิจ หรือแม้กระทั่งชาวบ้านธรรมดาทั่วไป ดังนั้นนักธรณีวิทยาจึงจะต้องมีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพและต่อผู้อื่นด้วย

สภาพการทำงานของนักธรณีวิทยา

สภาพการทำงานของนักธรณีวิทยาล้วนแล้วแต่แตกต่างกันออกไปตามบทบาทข้างต้น มีทั้งการทำงานในห้องทำงาน การออกพบปะผู้คนจากหลากหลายหน่วยงาน และการออกภาคสนามร่วมกับผู้อื่น ซึ่งอาจจะต้องออกสำรวจภาคสนามนานนับเดือน ในพื้นที่ห่างไกล ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งบนบกและกลางทะเล แน่นอนว่าอาจจะต้องมีความลำบากบ้าง สบายบ้าง อีกทั้งอาจจะเจออุปสรรคระหว่างทำงาน อาทิ สภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ แดดร้อน ฝนตก สกปรก เปรอะเปื้อน การปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ เป็นต้น หากเป็นงานในเหมืองแร่อาจจะต้องทำงานใต้ดินอีกด้วย ซึ่งแต่ละสถานที่มีความเสี่ยงอันตรายสูง และอาจก่อให้เกิดความเครียดได้ ดังนั้นนักธรณีวิทยาที่ดีจะต้องมีจิตใจมั่นคงไม่ท้อถอย ชอบท่องเที่ยว ผจญภัย ขยันขันแข็ง ซื่อสัต ย์ มีวินัย มีความคิดริเริ่ม มีความจำดี ช่างสังเกต สุขภาพแข็งแรง อดทน เรียบง่าย สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ดี (ข้อมูลเพิ่มเติม อุปกรณ์ทางธรณีวิทยา: อาวุธสำหรับนักธรณีภาคสนาม)

สำรวจตนเอง

หลังจากที่ได้เห็นภาพรวมของธรณีวิทยาและการทำงานของนักธรณีวิทยาเบื้องต้นแล้ว ทีนี้ก็ถึงขั้นตอนของการสำรวจตัวเราเอง จริงๆ แล้วทุกคนสามารถเรียนธรณีวิทยาได้ แต่การที่จะเรียนได้ดี มีความสุข และประสบผลสำเร็จในสายอาชีพนี้ ผู้นั้นจะต้องมีบุคลิกภาพที่พร้อมต่อการใช้เชาว์ปัญญาและความคิด มีสติดี ยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น ชอบคิด สังเกต มีจินตนาการ วิเคราะห์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล ชอบแก้ปัญหา ชอบใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ เพราะความรู้ทางธรณีวิทยานั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อมูลที่ดีขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้อาจจะฟังดูธรรมดาทั่วไป แต่ที่พิเศษสำหรับผู้เรียนธรณีวิทยาและจำเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ การมีใจรักธรรมชาติและการผจญภัย มีนิสัยเรียบง่าย ยอมรับความลำบาก พูดจารู้เรื่อง ตาไม่บอดสี สายตามองเห็นภาพสามมิติ ไม่เป็นโรคกลัวความสูง และมีร่างกายที่แข็งแรง

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสายอาชีพทางธรณีวิทยา โดย คุณนเรศ สัตยารักษ์ – หนึ่งในสุดยอดนักธรณีวิทยาไทย

แนวทางการเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี

ผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีความประสงค์จะเข้าศึกษาต่อ สาขาวิชาธรณีวิทยา จะต้องมี ความรอบรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์ โดยเน้นวิชาคณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา และสมัครสอบเข้าศึกษาได้โดยการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาตรี ได้แก่

หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ.)

หลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ (วศ.บ.)

แม้ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีความหลากหลายในรายวิชาแตกต่างกันไป สังเกตได้จากชื่อของสาขาหรือภาควิชา แต่ทุกสถาบันข้างต้นจะให้ความรู้ในเนื้อหาหลักที่สำคัญของธรณีวิทยาแก่ผู้ศึกษาทุกคน รวมถึงการออกภาคสนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอน

ข้อมูลเพิ่มเติม: การสอบเข้ามหาวิทยาลัยและชีวิตนักศึกษาธรณีชั้นปีที่หนึ่ง


CU- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์ สาขาธรณีวิทยา, KU- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คณะ วิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ
KKU- มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีธรณี, CMU- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาธรณีวิทยา
MU- มหาวิทยาลัยมหิดล กาญจนบุรี สาขาธรณีศาสตร์, SUT- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ (รวม)
*สำหรับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นคะแนนของผู้ที่มีสิทธิเข้าเรียนสำนักฯ
วิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งยังไม่ได้แยกเข้าสาขาฯ เทคโนโลยีธรณี
(ดูคะแนนสูงสุด-ต่ำสุดของปี 53 ที่นี่

การเลือกมหาวิทยาลัยขึ้นอยู่กับความสนใจส่วนตัว การหาข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอนของสถาบันต่างๆ ประกอบนั้นมีความสำคัญ ซึ่งสามารถเริ่มได้จากการเข้าไปดูรายละเอียดรายวิชาที่เปิดสอนในแต่ละชั้นปีจากเว็บไซต์ของสถาบันที่ให้ไว้ หรือสามารถขอรับคำปรึกษาจากรุ่นพี่นักศึกษา ศิษย์เก่าหรือคณาจารย์จากสถาบันเหล่านั้น สอบถามถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการเรียนการสอน หลักสูตร กิจกรรมนักศึกษา และโอกาสในการทำงานหลังจบการศึกษา หากได้รับคำแนะนำที่เป็นการยุยง โน้มน้าว เปรียบเทียบเกินจริงด้วยข้อมูลที่มาจากการกล่าวอ้าง โปรดใช้ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจ การชวนผู้ปกครองเข้าไปเยี่ยมชมสถาบัน เพื่อสัมผัสบรรยากาศจริง หรือการเยี่ยมชมสถานที่ทำงานของนักธรณีวิทยาหรือพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา ก็สามารถช่วยให้เห็นภาพของธรณีวิทยามากขึ้น

ในแต่ละปีจะมีการประกาศรับสมัครนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีสุดท้าย เพื่อรับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี-โท-เอก ในสาขาธรณีวิทยา ณ ต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารทุนการศึกษาได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานก.พ.

อีกหนึ่งช่องทางของการขอคำปรึกษาและข้อมูลเกี่ยวกับธรณีวิทยา เว็บไซต์วิชาการธรณีีไทย (GeoThai.net)

สภาพการเรียนโดยทั่วไป

การเรียนการสอนเป็นลักษณะการบรรยายในห้องเรียน และห้องปฏิบัติการ ร่วมกับการออกภาคสนามในสถานที่ต่างๆ ทั้งในระหว่างภาคการศึกษา และช่วงปิดเทอม เนื้อหามีการท่องจำค่อนข้างมากพอสมควร โดยเฉพาะการเรียนเกี่ยวกับแร่ หิน และซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐาน มีการคำนวณบ้างแล้วแต่รายวิชา ธรณีวิทยาเป็นวิชาทักษะที่ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ อาจจะต้องทำงานในห้องปฏิบัติการนอกเวลาเรียนเพิ่มเติม มีการประเมินผลการทำงานเป็นกลุ่มและเดี่ยว ในรูปแบบของรายงาน การบ้าน การทำแผนที่ รายงานการสำรวจ การเขียนแบบ วาดภาพระบายสี การนำเสนอหน้าชั้นเรียน งานวิจัยค้นคว้าอิสระ การสอบที่มีทั้งการสอบข้อเขียนบรรยาย สอบปากเปล่า และการสอบแบบจับเวลา

นอกเหนือจากการเรียนการสอนแล้ว แต่ละสถาบันข้างต้นมีกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกของกลุ่มนักศึกษาตลอดทั้งปี ซึ่งสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของแต่ละสถาบันเช่นกัน นอกจากนี้ทุกปีจะมีกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันที่หมุนเวียนกันจัดขึ้นอีกด้วย

ตัวอย่างการออกภาคสนามภาคของนักศึกษาธรณีวิทยา

แนวทางการศึกษาต่อ

บัณฑิตที่จบจากสถาบันข้างต้นสามารถศึกษาต่อปริญญาโท และเอก ได้ทั้งใน และต่างประเทศ โดยสามารถศึกษาเฉพาะด้าน หรือร่วมกับสาขาอื่น เช่น วิทยาแร่ ศิลาวิทยา ธรณีเคมี ธรณีฟิสิกส์ ธรณีวิทยาเหมืองแร่ อุทกธรณีวิทยา ธรณีวิทยาปิโตรเลียม วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรรมเหมืองแร่ ธรณีเทคนิค วิศวกรรมธรณี มากมายได้อีก ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดการเรียนการสอนในหลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีทุนให้ศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ จากหน่วยงานราชการ และเอกชนอีกด้วย ติดตามข่าวสารทุนการศึกษาได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานก.พ. และ เว็บไซต์วิชาการธรณีีไทย (GeoThai.net)

ข้อมูลเพิ่มเติม: เรียนต่อธรณีที่มอสโคว ประเทศรัสเซีย

แหล่งงานประกอบอาชีพ

ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาธรณีวิทยาสามารถสมัครงานในหน่วยงานต่างๆ ดังนี้

  • หน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมพลังงานเชื้อเพลิง มหาวิทยาลัย กรมทรัพยากรธรณี พิพิธภัณฑ์ธรณี เป็นต้น โดยเป็นอาจารย์ นักวิจัย หรือนักวิชาการ
  • รัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • หน่วยงานเอกชน เช่น บริษัทเหมืองแร่ บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

การสมัครงานเกิดขึ้นทุกปี แต่มีอัตราการรับไม่แน่นอน ซึ่งผู้ศึกษาต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ เนื่องด้วยภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ผลการเรียนและภาษาอังกฤษมีความจำเป็นอย่างมาก อีกทั้งประวัติพฤติกรรมที่ดีตลอดการเดินทาง ถนนสายนี้ค่อนข้างแคบและรู้จักกันเป็นอย่างดี หลายหน่วยงานเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานร่วมกับนักธรณีวิทยาในสภาพการทำงานจริง ซึ่งจะเป็นเวลาที่เราค้นพบว่าเราชอบและมีความถนัดในสายงานนั้นๆ จริงหรือไม่

โดยปกติกระบวนการรับสมัครจะเริ่มตั้งแต่การรับสมัครนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา หน่วยงานต่างๆ จะแวะเวียนกันมาแนะแนว รับสมัครและสัมภาษณ์ถึงในมหาวิทยาลัย แต่ก็มีหลายหน่วยงานที่ไม่สามารถมาได้ก็จะฝากข่าวประกาศแจ้งรายละเอียดการรับสมัครและสถานที่ให้ทราบผ่านภาควิชา หรือคณาจารย์ อีกรูปแบบหนึ่งสำหรับคนที่อยู่ในช่วงระหว่างการหางานประจำ คือ การรับงานพิเศษช่วงสั้นๆ เช่น งานช่วยเดินสำรวจภาคสนาม เก็บตัวอย่างหินแร่ งานวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น ซึ่งมักเป็นการร้องขอให้ช่วยเหลือจากนักธรณีวิทยารุ่นพี่ และมีค่าตอบแทนให้ด้วย การรับสมัครงานบางประเภทอาจมีการกำหนดเพศ ผลการเรียน หรือผลภาษาอังกฤษของผู้สมัครด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม: นักธรณีหญิงไทยทำงานไกลที่ไซบีเรีย

ข้อเท็จจริง

ถาม: ผู้หญิงกับธรณีวิทยา?
ตอบ: ปัจจุบันมีนักศึกษาหญิงและนักธรณีหญิงจำนวนมาก ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้หญิงสามารถเรียนและประสบผลสำเร็จในสายอาชีพธรณีวิทยาได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ

ถาม: เรียนธรณีวิทยาแล้วได้ทำงานบริษัทน้ำมัน?
ตอบ: หลายคนตั้งความหวังไว้ว่า หากเป็นนักธรณีวิทยาแล้วจะได้เข้าทำงานในบริษัทสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่ซึ่งให้ค่าตอบแทนหรือเงินเดือนค่อนข้างสูง แต่ในความเป็นจริงแล้วตำแหน่งงานที่เปิดรับในสายนี้มีจำนวนจำกัด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เรียนจบธรณีวิทยาทั่วประเทศในแต่ละปี ดังนั้นจึงไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้ทำงานในสายนี้ งานของนักธรณีวิทยามีอย่างอื่นอีกมากมายดังที่ได้แนะนำไว้ในหัวข้อ แหล่งงานประกอบอาชีพ