ธรณีวิทยาใน London 2012

by

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 30 หรือ ลอนดอน 2012 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ก.ค ถึง 12 ส.ค 2556 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ความสำคัญของประเทศเจ้าภาพก็คือเป็นแหล่งต้นกำเนิดของแนวคิดทางธรณีวิทยา สถานที่สำคัญทางธรณีวิทยาหลายแห่งได้รับการโปรโมทระหว่างการวิ่งคบเพลิง นอกจากนี้เจ้าภาพก็ได้ศึกษาธรณีวิทยาของลอนดอนอย่างละเอียด เพื่อเตรียมจัดสถานที่แข่งขัน บทความนี้รวบรวมธรณีวิทยาที่ได้จากการแข่งขันโอลิมปิกลอนดอน 2012

มาสคอต ในตารางธรณีกาล

มาสคอตโอลิมปิก ลอนดอน 2012 เกิดจากเศษเหล็กหลอมสองก้อน ที่หลุดออกมาจากกระบวนการหลอมเหล็กที่ใช้ในการสร้างสนามกีฬา ก่อนที่จะถูกเก็บมาหลอมใหม่ให้เป็นตัวการ์ตูนสองตัว ตัวนึงชื่อ เวนล็อค (ในภาพ) อีกตัวชื่อ แมนเดอวิลล์

สำหรับ เวนล็อค นั้นตั้งชื่อตาม ชื่อของเมือง มัชเวนล็อก เมืองเล็กๆ ในเขตตะวันตกของเกาะอังกฤษ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ เมื่อปีพ.ศ.2393

สำหรับนักสำรวจ ถ้าลองดูในตารางธรณีกาล ก็จะพบคำว่า เวนล็อค อยู่ด้วย นั่นคือ สมัยเวนล็อค (Wenlock Epoch ~428-422 ล้านปี) ซึ่งเป็นช่วงเวลาหนึ่งในยุคไซลูเรียนตอนกลาง ได้จากการศึกษาหินปูนในเมือง เวนล็อค เอด์จ ใกล้กับเมือง มัชเวนล็อค ประเทศอังกฤษ ความสำคัญของสมัยเวนล็อคนี้ก็คือ เป็นช่วงเวลาแรกๆ ของวิวัฒนาการพืชบก

การ์ตูนประกอบ http://youtu.be/q1fy6ZmG4YY
ต้นพืชในสมัยเวนล็อค http://en.wikipedia.org/wiki/Cooksonia

 

หินใต้กรุงลอนดอน

 

โมเดลจำลองสามมิติ แสดงลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณกรุงลอนดอน ของประเทศอังกฤษ นักธรณีวิทยาแบ่งพื้นที่ออกเป็นสีๆ ตามชุดหิน ดังสัญลักษณ์ด้านข้าง (อายุอ่อนอยู่บนสุด) ความหนาของชั้นหินได้จากเปรียบเทียบข้อมูลหลุมเจาะ แม่น้ำเทมส์ แม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านกรุงลอนดอนจะมีลักษณะตามชุดหินสีเหลือง ไหลจากตะวันตกไปตะวันออก ผ่านสนามหลักของการแข่งขันโอลิมปิก 2012

สำหรับชุดหินสำคัญในพื้นที่ก็คือดินเหนียวลอนดอน ซึ่งมีความหนาและกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณตามสีน้ำตาล เป็นหินเหนียวที่ตกสะสมตัวในทะเลเมื่อสมัยอีโอซีน (~56-49 ล้านปี) ส่วนชุดหินสีเขียวคือหินชอล์ค ยุคครีเทเชียสตอนปลาย เป็นชุดหินเดียวกับหน้าผาสีขาวสวยๆ ทางตอนใต้ของเกาะอังกฤษ

ปัจจุบันกรุงลอนดอนมีการก่อสร้างมากมาย ทำให้ต้องมีการสำรวจธรณีวิทยาใต้พื้นดินอย่างละเอียด แต่การศึกษานั้นค่อนข้างลำบากเนื่องจากหินมันอยู่ใต้ดิน และพื้นที่ก็มีบ้านเรือนหนาแน่นมาก ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ได้จะเป็นข้อมูลจากหลุมเจาะสำรวจและการเปรียบเทียบกับหินในบริเวณอื่นๆ นักธรณีวิทยาจะนำข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัดมาสร้างเป็นแบบจำลอง เพื่อใช้ในการวางแผนก่อสร้างอาคารสถานที่และรถไฟฟ้าใต้ดินต่อไป

และก่อนที่จะมีการสร้างสนามกีฬาโอลิมปิกในกรุงลอนดอน ก็ได้มีการสำรวจธรณีวิทยาใต้ดินของพื้นที่ด้วย ซึ่งรวมถึงการศึกษาน้ำใต้ดิน และระบบรอยเลื่อน แม้จะไม่เห็นหินใต้ดินจริง แต่แบบจำลองทางธรณีวิทยาก็มีความสำคัญต่อการออกแบบและตัดสินใจการก่อสร้างฐานราก ซึ่งแบบจำลองสามารถปรับปรุงได้เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม (Image credit: NERC, via bgs.ac.uk) 

 

การสร้างสนามแข่ง

เปรียบเทียบภาพก่อนและหลังพื้นที่ก่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิก ลอนดอน 2012 ตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงลอนดอน เดิมทีพื้นดินประกอบด้วยชั้นดินเหนียว ก่อนก่อสร้างสนามหลักต้องทำการขุดชั้นดินเหนียวออกไป เพื่อทำการฝังเสาเข็มคอนกรีตกว่า 4,000 เสา ลึกกว่า 20 เมตร สภาพชั้นหินใต้พื้นที่ก่อสร้างประกอบด้วยดินเหนียวและทรายทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งวางตัวอยู่บนชั้นหินชอลค์ (ดูภาพได้จากโพสแบบจำลองธรณีวิทยาลอนดอนก่อนหน้านี้)

ระบบน้ำที่ใช้ในการอุปโภคมาจากแหล่งน้ำใต้ดิน ซึ่งแบ่งได้เป็นสองระดับคือระดับตื้นในชั้นทรายอายุอ่อนที่เชื่อมต่อกับน้ำแม่น้ำบนดิน และระดับลึกจากชั้นหินชอลค์อายุครีเทเชียสที่อยู่ข้างใต้ ทั้งสองชั้นถูกคั่นโดยชั้นดินเหนียวที่เรียกว่าลอนดอนเคลย์ ยุคอีโอซีน  (Image credit: dailymail.co.uk)

 

คบเพลิงโอลิมปิก

คบเพลิงโอลิมปิกลอนดอน 2012 ทำด้วยโลหะผสมอลูมิเนียมอัลลอย ซึ่งมีความทนทานและน้ำหนักเบา ออกแบบโดยนักออกแบบชาวอังกฤษเอ็ดเวิร์ด บาร์เบอร์ และ เจย์ ออสเกอร์บี โดยด้ามคบเพลิงจะถูกเจาะรูจำนวน 8,000 รู เพื่อแสดงถึงจำนวนนักวิ่งคบเพลิงแปดพันคน รูพรุนนี้ยังช่วยระบายความร้อนได้อีกด้วย การออกแบบที่ผสมผสานระหว่างคุณภาพและความทันสมัยนี้ ทำให้ได้รับรางวัลออกแบบยอดเยี่ยมแห่งปี 2012 ที่ประเทศอังกฤษ (Photo credit: London2012.com)

คลิปสัมภาษณ์นักออกแบบ http://youtu.be/SL9kAqNbYug
คลิปเยี่ยมชมโรงงานการผลิต http://goo.gl/iwMkE

 

แท่งหินเหลี่ยม มรดกโลก

Giant’s Causeway เป็นชายฝั่งที่เกิดจากการเย็นตัวของหินภูเขาไฟเมื่อประมาณ 50-60 ล้านปีที่ผ่านมาหรือยุคพาลีโอจีน ก่อให้เกิดหินรูปหกเหลี่ยมและหินแท่งสี่เหลี่ยมกว่า 40,000 แท่ง องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียน Giant’s Causeway เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529)

แท่งหินบะซอลต์ในประเทศไอร์แลนด์เหนือเหล่านี้เกิดจากการเย็นตัวของลาวาร้อนอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการหดตัว คล้ายกับดินโคลนที่แตกระแหง ด้วยความสวยงามทำให้ถูกเลือกเป็นสถานที่หนึ่งที่คบเพลิงไฟโอลิมปิก 2012 วิ่งผ่าน (17 มิ.ย 55)  (Photo credit: LOCOG)

 

แท่งหินสโตนเฮนจ์

คบเพลิงโอลิมปิกลอนดอนได้แวะมาที่สโตนเฮนจ์ ซึ่งเป็นกลุ่มแท่งหินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางทุ่งราบกว้างใหญ่บนที่ราบซอลส์บรี (Salisbury Plain) ในบริเวณตอนใต้ของเกาะอังกฤษ หินสโตนเฮนจ์นั้นประกอบไปด้วยหินตะกอนและหินอัคนี หินตะกอนเป็นหินทรายมีอายุกว่า 60 ล้านปี ที่ไม่ใช่หินจากบริเวณที่มันตั้งอยู่ เพราะที่ราบซอลส์บรีเป็นหินชอล์กอายุแก่กว่า ในยุคครีเทเชียส (>65 ล้านปี) นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าผู้สร้างอาจจะนำมาจากอีกสถานที่หนึ่ง คือ Marlborough Downs ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร

ส่วนแท่งหินขนาดเล็กในสโตนเฮนจ์ เป็นหินอัคนีแกบโบรและไรโอไลต์ มีสีออกน้ำเงิน (Bluestone) ซึ่งก็ไม่ใช่หินแถวนั้นอีกเช่นกัน จากการศึกษาเปรียบเทียบทางธรณีวิทยาแล้วคาดว่าน่าจะนำมาจากประเทศเวลส์ ห่างออกไปกว่า 200 กิโลเมตร คำถามก็คือคนในสมัยอดีตขนหินเหล่านี้มาได้อย่างไร? – (Photo credit: London2012.com)

 

เหรียญรางวัล

ภาพเหรียญรางวัลสำหรับผู้ชนะการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกลอนดอน 2012 แต่ละเหรียญมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 85 มิลลิเมตร และหนา 7 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 375-400 กรัม

  • เหรียญทองประกอบด้วย เอ่อ.. แร่เงิน 92.5% ทองคำ 1.34% (~ 6 กรัม) และที่เหลือเป็นทองแดง
  • เหรียญเงินประกอบด้วย แร่เงิน 92.5% และที่เหลือเป็นทองแดง
  • เหรียญทองแดงประกอบด้วย ทองแดง 97% สังกะสี 2.5% และดีบุก 0.5%

แหล่งแร่ที่ใช้ในการผลิตเหรียญรางวัลครั้งนี้ได้มาจากเหมืองทองแดง Kennecott ในรัฐยูท่า สหรัฐอเมริกา และเหมืองทองคำทองแดงในมองโกเลีย ส่วนแร่สังกะสีได้จากเหมืองแร่ในออสเตรเลียและโรงงานรีไซเคิล ส่วนดีบุกได้จากเหมืองทางตอนใต้ของเกาะอังกฤษ การจัดหาแหล่งแร่สำหรับการทำเหรียญรางวัลเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนโดย บริษัทเหมืองแร่ ริโอ ทินโต (Rio Tinto)  (Image credit: London2012.com)

 

หน้าผาหินชอลค์

โลโก้โอลิมปิกบนหน้าผาหินชอลค์ ทางตอนใต้ของเกาะอังกฤษ (Photo credit: LOCOG)

 

สำหรับใครที่กำลังชมการแข่งขันเรือใบโอลิมปิก ลองสังเกตหน้าผาสีขาวในภาพ เป็นหินชอลค์อายุครีเทเชียสซึ่งโผล่ให้เห็นตลอดแนวหน้าผาชายฝั่งทางใต้ของเกาะอังกฤษ ชายฝั่งทางตอนใต้แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ธรณีวิทยาทั้งหินและฟอสซิล ตั้งแต่ยุคไทรแอสซิก จูแรสซิก และครีเทเชียส (251-65 ล้านปี) ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นักสำรวจจะพากันมาดูและศึกษาหินที่นี่ทุกปี (Image credit: BBC)

 

ธรณีวิทยาบนมือถือ

 

สำนักสำรวจธรณีวิทยาอังกฤษ (BGS) ไอเดียเก๋ ได้จัดทำแอพลิเคชั่นข้อมูลธรณีวิทยาแบบสามมิติ (iGeology 3D) บนโทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอยด์ ให้ดาวน์โหลดฟรี ผ่าน Google Play การใช้งานก็เพียงแค่ใช้กล้องมือถือส่องไปบริเวณที่สนใจ แล้วก็จะปรากฏแผนที่ธรณีวิทยาบนพื้นขึ้นมา พร้อมข้อมูลหินประกอบ ขณะนี้สามารถใช้ได้กับพื้นที่ในเกาะอังกฤษเท่านั้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งการบริการความรู้ธรณีวิทยาให้กับประชาชนทั่วไป ลิงค์ดาวน์โหลด https://play.google.com/store/apps/details?id=uk.ac.bgs.iGeology3D (Image credit: BGS)

 

บ้านบิดาธรณีวิทยา

ภาพป้ายระบุว่า เซอร์ชาร์ลส์ ไลแอล เคยพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ ในกรุงลอนดอน เซอร์ชาร์ลส์ ไลแอล เรียกได้ว่าเป็นบิดาแห่งธรณีวิทยา ผู้ที่วางรากฐานความรู้ทางธรณีวิทยาให้กับนักสำรวจโลกในปัจจุบัน อ่านเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับนักธรณีวิทยารุ่นบุกเบิกได้ที่นี่ https://www.geothai.net/?p=201 หรือเยี่ยมชมหน้าบ้านได้ที่นี่ http://goo.gl/maps/Cpwb (Photo credit: Simon Harriyott)

 

หมอนักสะสมฟอสซิล

โรคพาร์กินสัน หรือ โรคสั่นสันนิบาต คือโรคทางระบบประสาทที่ทำให้เกิดอาการสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวช้า ผู้ที่เสนอรายงานโรคนี้คนแรกก็คือ นายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ชาวอังกฤษ ข้อมูลนี้หลายคนคงจะรู้กันดีอยู่แล้ว แต่รู้ไหมว่า คุณหมอ ยังมีความสนใจทางด้านธรณีวิทยาด้วย โดยเริ่มจากการเก็บฟอสซิลมาศึกษาในยุคแรกที่หลายคนยังเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลก และยังไม่มีตำราธรณีวิทยามากนักในช่วงต้นปีศตวรรษที่ 18 หรือประมาณ 200 ปีที่แล้วนู้น ภาพที่เห็นคือป้ายที่ระบุไว้ชัดเจนว่าคุณหมอเคยพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ กลางกรุงลอนดอน คุณสามารถเยี่ยมชมบ้านของคุณหมอนักธรณีได้ที่นี่ http://goo.gl/maps/sjAA (Photo credit: COGWHEELER)

นายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน มีบทบาทสำคัญต่อวงการธรณีวิทยาอังกฤษและของโลกก็ว่าได้ เขาได้ตีพิมพ์หนังสือบรรพชีวินวิทยาหลายฉบับ ซึ่งเขาได้วาดภาพฟอสซิลประกอบ และให้ลูกสาวระบายสี นอกจากนี้คุณหมอยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมธรณีวิทยาแห่งลอนดอนอีกด้วย ในภาพคือตัวอย่างหนังสือของเขาที่ตีพิมพ์เมื่อปีค.ศ.1822 (Image credit: Geology-Books.com)

 

ทรายในวอลเลย์บอลชายหาด

 

ภาพทรายที่ใช้ทำสนามแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด สำหรับการแข่งขันระดับนานาชาติ เช่น การแข่งขันโอลิมปิก ทรายที่ได้มักจะเป็นทรายจากแม่น้ำหรือจากเหมืองหินทราย ประกอบไปด้วยเม็ดทรายที่มีรูปร่างค่อนข้างกลมมน มีขนาดตั้งแต่ 0.2 ถึง 1 มิลลิเมตร  (Image credit: specialistaggregates.com)

 

แผนที่ธรณีวิทยาฉบับแรกของอังกฤษ

แผนที่ธรณีวิทยาฉบับแรกของอังกฤษ โดย William Smith (บิดาธรณีวิทยาอังกฤษ) ตีพิมพ์เมื่อปีค.ศ.1815 หรือเกือบสองร้อยปีที่แล้ว!

 

ธรณีวิทยาของบิกเบน

หอเอลิซาเบธ (Elizabeth Tower) หรือ บิ๊กเบน สัญลักษณ์ประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

จากข้อมูลของบริษัท Stonewest ผู้รับซ่อมบำรุงอาคาร ระบุว่าตัวหอเอลิซาเบธและพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ที่อยู่ติดกัน สร้างจากอิฐหินปูนที่เต็มไปด้วยมวลหินพอกก้อนเล็กๆ (oolite) มากมาย ทำให้ดูภายนอกแล้วคล้ายกับหินทรายหยาบ

เดิมทีหินปูนที่นำมาก่อสร้างเรียกว่า Aston limestone ซึ่งเรียกตามชื่อเมืองที่เป็นแหล่งที่มาทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ หินปูนชุดนี้เกิดในยุคจูแรสซิกตอนกลาง (~172-168 ล้านปีก่อน) ในสภาพแวดล้อมแบบทะเลเขตร้อน การซ่อมบำรุงภายหลังได้เปลี่ยนเป็นปูนชนิดเดียวกันจากเมือง Clipsham แทน

(Photo credit: AFP)